เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์แห่งนอรเวย์ (The Norwegian Academy of Science and Letters) ได้ประกาศผลรางวัลอาเบล (Abel Prize) ประจำปี 2011 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้คือ จอห์น มิลเนอร์ (John Milnor) จากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูค (Stony Brook University) สหรัฐอเมริกา
รางวัลอาเบล ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดรางวัลหนึ่งในวงการคณิตศาสตร์ระดับโลก และอาจเทียบเคียงได้ว่าเป็น “รางวัลโนเบล” ทางคณิตศาสตร์ (อีกรางวัลหนึ่งที่มักได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นรางวัลโนเบลทางคณิตศาสตร์ คือ เหรีียญฟิลดส์)
รางวัลอาเบลจะถูกมอบให้นักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด มีผลงานโดดเด่นที่สุด และประกอบคุณูปการและมีอิทธิพลต่อวงการคณิตศาสตร์มากที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับอายุของผู้รับรางวัล ในขณะที่เหรียญฟิลดส์จะมอบให้แก่นักคณิตศาสตร์ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปีเท่าั้นั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า รางวัลอาเบลเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จตลอดช่วงชีวิต (lifetime achievement) ที่นักคณิตศาสตร์ชั้นยอดพึงได้รับ
รางวัลอาเบลประกอบด้วยโล่ห์และเงินรางวัล จำนวน 6 ล้านโครน หรือประมาณ 33 ล้านบาท โดยพิธีมอบรางวัลปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม โดยกษัตริย์ฮารัลด์แห่งนอรเวย์
อนึ่ง ชื่อรางวัลอาเบลนั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ นีลส์ เฮนริก อาเบล (Niels Henrik Abel: 1802-1829) นักคณิตศาสตร์ชาวนอรเวย์ ผู้ซึ่งเมื่อขณะที่มีอายุเพียง 19 ปี ได้พิสูจน์ว่าสมการพหุนามกำลังห้าเป็นต้นไปจะไม่มีผลเฉลยลักษณะกรณฑ์ (radical solution หรือผลเฉลยที่อยู่ในรูปการบวก ลบ คูณ หาร หรือถอดรากของสัมประสิทธิ์ของพหุนาม) ซึ่งเป็นความสำเร็จที่สำคัญมากในทฤษฎีกรุป (Group Theory) นอกจากนี้ คำว่า Abelian group (กรุปสลับที่) ก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นักคณิตศาสตร์ผู้นี้เช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าอาเบลต้องเสียชีวิตด้วยวัณโรคในขณะที่มีอายุเพียง 26 ปี เท่านั้น
สำหรับจอห์น มิลเนอร์ ผู้ชนะรางวัลอาเบลในปีนี้ มีเกียรติประวัติและผลงานยอดเยี่ยมเป็นอย่างยิ่ง เขาเป็น Putnam Fellow (หนึ่งในห้าคนแรกที่ได้คะแนนสูงสุดของการสอบแข่งขัน Putnam Competition) ถึง 2 ครั้งในปี 1949 และ 1950 และยังได้รับเหรียญฟิลดส์ในปี 1962 อีกด้วย ผลงานสำคัญของเขามีทั้งในสาขา Differential Topology, K-Theory, Group Theory, Game Theroy และ Dynamical System
ขอบคุณที่มาดีๆ จาก Math Talk