เก็บความนำเสนอ: นฤพนธ์ สายเสมา
จาก อารีย์ พันธ์มณี. (๒๕๓๘, เมษายน – พฤษภาคม). “เคล็ดลับของนักเรียนยอดเยี่ยม,”
แนะแนว. ๒๙(๑๕๘): ๖๔ – ๖๗.
————————————————————
นักเรียนหลายต่อหลายคน มักจะถามผมว่า ทำอย่างไรถึงจะเรียน (คณิตศาสตร์) ได้เก่ง รู้เรื่อง เข้าใจ ผมก็แฉไฉไปเรื่อย ตอบไปเล็กน้อย แบบกั๊กๆ บ้าง บอกว่าจะตอบที่อื่นบ้าง มานึกได้ว่าครูกรองแก้ว สานุสนธิ์ ครูภาษาไทย และแนะแนวสมัย ม.๓ เคยพูดถึงบทความหนึ่งเกี่ยวกับนักเรียนยอดเยี่ยม และก็เคยจำได้ว่าได้อ่าน และนำมาให้นักเรียนอ่านแล้ว เลยขอนำเสนออีกครั้ง
อาจจะไม่เฉพาะเจาะจงที่การเรียนคณิตศาสตร์ แต่บทความนี้ก็กล่าวถึงภาพรวมของการเรียนได้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี ไม่เว้นมีแต่คณิตศาสตร์ครับ
มาอ่านกันเลยครับ…
นักเรียนยอดเยี่ยม คือ นักเรียนที่มีผลการเรียนในระดับ ๔ ทุกวิชา คนเหล่านี้ฉลาดกว่าคนปกติทั่วไปหรือ คำตอบคือเปล่าเลย เขาไม่ได้เฉลียวฉลาดกว่าคนปกติ แต่เขามีวิธีการเรียนรู้ และวิธีการทำงานที่ฉลาดกว่า แม้ว่าภาพพจน์เดิมๆ ของนักเรียนยอดเยี่ยม ก็คือ คนที่เรียนได้คะแนนสูงทุกวิชา และเป็นคนที่เอาจริงเอาจัง หมกมุ่นอยู่เฉพาะเรื่องที่เรียนเท่านั้น โดยไม่สนใจเรื่องอื่นไม่ว่าจะเป็นกีฬา สังคม หรือแม้แต่เพศตรงข้าม แต่ปัจจุบันนักเรียนยอดเยี่ยมเปลี่ยนแปลงไป นักเรียนยอดเยี่ยมหลายๆ คนยังสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย บางคนเป็นประธานนักเรียน เป็นนักกีฬา ผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงสุดไม่ได้เกิดจากการเกิดมามีสมองดีอย่างเดียว ผู้รู้แนะนำว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการมีสมองดี คือ การได้พัฒนาตนเองได้อย่างเต็มตามศักยภาพ
โดยความเป็นจริง นักเรียนที่มีสติปัญญาสูง บ่อยครั้งมิได้เป็นเพื่อนร่วมชั้นที่ดีกว่าพวกมีสติปัญญาปานกลาง แต่พวกเขาเรียนรู้ได้ง่ายและเร็วกว่าโดยไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้ามากนัก และไม่ได้ใช้เวลาทั้งหมดในการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก
และพวกเขาทำดังต่อไปนี้…
๑. จัดลำดับความสำคัญ นักเรียนยอดเยี่ยมจะจัดลำดับความสำคัญของการเรียนว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งแรกที่จะต้องทำ เขาจะไม่ยอมให้สิ่งใด เรื่องใดมารบกวนในการศึกษา และฉกฉวยเอาเวลาไปทำเรื่องอื่น ไม่ว่าจะมีโทรศัพท์มาก็ไม่รับ ไม่สนใจดูโทรทัศน์ ไม่สนใจอาหารว่างเท่าใดนัก การเรียนคือธุรกิจ คือชีวิต คือความสุข และการเรียนย่อมมาก่อนการพักผ่อนหย่อนใจ
๒. ศึกษาได้ในทุกสถานที่ นักเรียนยอดเยี่ยมสามารถอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ท่องศัพท์ และทบทวนบทเรียนได้ในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ห้องเรียน ใต้ต้นไม้ หรือแม้แต่เวลาแปลงฟัน ก็อาจจะท่องศัพท์ที่เขียนไว้บนกระจก เลือกศึกษาตามเวลาที่สนใจ อาจเป็นตอนกลางคืน ตอนเช้าตรู่ ตอนดึก หรือตอนกลับถึงบ้าน ที่สำคัญ นักเรียนเหล่านั้นจะทำอย่างนี้ทุกวัน เป็นประจำ ดังนั้น ความสม่ำเสมอในการศึกษา ประกอบกับสถานที่ที่เหมาะสมทุกสถานที่ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีเวลา มีอารมณ์ มีความพร้อม จึงไม่เป็นการยากที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้
๓. การจัดระเบียบ นักเรียนยอดเยี่ยมหลายคนต้องทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมๆ กัน จนดูเหมือนว่าพวกเขามีเวลาไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องจัดของให้เป็นระเบียบ ให้วางอยู่เป็นที่เป็นทางที่เหมาะสมในทำนอง “หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูงามตา” และเขาจะไม่ยอมเสียเวลากับการค้นหาของ แต่จะเสียเวลากับการศึกษาค้นคว้า อ่านหนังสือ ทบทวนตำรับตำราเท่านั้น
๔. การเรียนรู้วิธีอ่าน วิธีการเรียนรู้ที่ดีวิธีการหนึ่งก็คือ การฝึกอ่านเร็ว ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้เร็วแล้ว ยังทำให้เกิดความสนุกสนานในการอ่านด้วย อีกทั้งยังทำให้จดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้มากทีเดียว เคล็ดลับสำคัญคือ ต้องกระตือรือร้นต่อการตั้งคำถาม ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจก่อนการอ่านหนังสือ หรือบทเรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
๕. จัดตารางเวลา เนื่องจากในการเรียนต้องมีการบ้าน มีรายงาน มีการสอบ ดังนั้น นักเรียนที่เรียนดีจะต้องจัดตารางเวลาทั้งหมด และกำหนดเวลาส่งให้แน่นอน ชัดเจน และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกำหนดเวลานั้น ถ้าเป็นงานชิ้นใหญ่ เขาก็จะแบ่งมันออกเป็นส่วนๆ และค่อยทำไปแต่ละส่วนจนกว่าจะเสร็จ เป็นการทอนงานให้ดูไม่มากจนเกินไป และช่วยให้งานออกมาดีด้วย สิ่งสำคัญก่อนลงมือทำงานชิ้นหนึ่งๆ คือ การเขียนโครงร่างของงานแล้วจึงเขียนงานฉบับสมบูรณ์ และจะให้เวลาในการเขียนอย่างเพียงพอ เพื่อจะได้มีเวลากลับมาทบทวนอีกครั้ง และไม่ว่าจะมีงานมากเพียงใจ แต่เขาจะต้องมั่นใจและจัดการมันให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดได้
๖. ทำบันทึกย่อ การอ่านเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าอ่านแล้วบันทึกย่อก็จะดีกว่า และสิ่งสำคัญคือ ต้องใส่ใจกับสิ่งที่ครูเน้น เพราะครูมักจะสอบตรงกับที่ครูย้ำ ดังนั้นควรจดคำบรรยาย และใช้ให้ถูกต้อง วิธีหนึ่งที่แนะนำคือ จดย่อจากตำราด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งจดสิ่งที่ครูบรรยาย และนำสามารถนำบันทึกดังกล่าวมาทบทวนได้ก่อนที่โรงเรียนจะเลิกตอนเย็น ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการทบทวน
๗. ความสะอาดสวยงาม งานทุกชิ้นต้องทำด้วยความสะอาดหมดจด สวยงาม ซึ่งแน่นอนว่าต้องทำให้ได้คะแนนมากกว่างานที่ขาดความประณีต ดังนั้น นักเรียนที่ดีจะส่งงานที่เรียบร้อยสมบูรณ์ ประณีต และแสดงออกถึงความตั้งใจทำงานอย่างดี ยิ่งมีหลายชิ้นแล้วทำได้สะอาดเรียบร้อยทุกชิ้น ก็จะได้คะแนนดีทุกชิ้น แล้วเกรด ๔ จะไปไหนเสีย
๘. การซักถาม นักเรียนที่ดีจะซักถามทันทีเมื่อมีข้อสงสัย การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนนอกจากการซักถามแล้ว การแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และขยายความคิด สติปัญญาของนักเรียนก็จะเฉียบคมยิ่งขึ้น ข้อสงสัยกับคำถามจึงเป็นสิ่งที่คู่กับนักเรียนเรียนดี
๙. การศึกษาร่วมกัน การศึกษาตำราร่วมกัน การอภิปราย ซักถาม และช่วยกันคิด ช่วยกันตอบคำถาม ข้อสงสัย จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ดี และจดจำได้แม่นยำ ซึ่งนอกจากตัวเองแล้ว ผลจากการศึกษาก็พบว่า เพื่อนๆ ในกลุ่มที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกันก็จะสามารถทำคะแนนได้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
๑๐. ทดสอบตนเอง นักเรียนที่ดีต้องเก็บข้อสอบ คำถามที่เห็นว่าสำคัญ และยังพยายามจะตอบคำถามให้ได้ ถ้ายังตอบไม่ได้ก็จะกลับไปศึกษาให้แม่นยำ จารการศึกษาพบว่านักเรียนทำทดลองทำข้อสอบบ่อยๆ ครั้ง เมื่อไปเจอข้อสอบจริงก็มักจะทำคะแนนได้ดีเช่นกัน
๑๑. ทำมากกว่าที่ถูกกำหนดให้ทำ นักเรียนที่ดีมักจะทำการบ้านมากกว่าที่ครูกำหนดให้เช่นกัน เช่น ครูให้การบ้านคณิตศาสตร์ ๕ ข้อ เขาก็จะทำถึง ๑๐ ข้อ สิ่งหนึ่งที่ทำให้นักเรียนดีได้คะแนนสูงคือ การฝึกหัด และการเรียนรู้ที่ดีก็คือ การฝึกหัดมากเท่าไรคุณก็ยิ่งได้เรียนรู้มากเท่านั้น
จากเคล็ด (ไม่) ลับดังกล่าวของนักเรียนผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในการเรียน ก็ทำให้รู้ว่าไม่มีความลับอีกต่อไปที่จะเรียนให้ได้เกรด ๔ หากแต่นักเรียนนำไปปฏิบัติเป็นประจำ มุ่งมั่น และสม่ำเสมอ จนกลายเป็นนิสัย แล้วจะพบว่าความสำเร็จในการเรียนเป็นไปได้อย่างแน่นอน
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง (คลิกที่เรื่องเพื่ออ่านต่อ)
- อยากเรียนคณิตศาสตร์ให้เก่ง โดยครูนฤพนธ์ สายเสมา
การจดย่อนี่หมายความว่าอะไรค่ะ
หมายถึง จดตามที่ครูพูดหรือว่ายังไงค่ะ
หมายความตามนั้นด้วยครับ แต่ให้จดเน้นประเด็นสำคัญ อาจจะจดสิ่งที่ครูแนะนำให้ไปอ่านเพิ่ม หรือข้อความที่ครูย้ำ ไม่ใช่จนตามทุกคำที่ครูพูด และการจดย่ออีกอย่างคือ จดย่อจากสิ่งที่เราอ่านด้วย จะจดในหนังสือของเราที่อ่าน หรือจะจดในสมุดอีกเล่มก็ได้ครับ
ลองทำดูนะครับผม ขอให้สู้ๆ และตั้งใจนะครับ
ขอบคุณที่แวะมาเล่นด้วย
แล้วจำเป็นไหมค่ะว่าต้องเรียนพิเศษ
แล้วถ้าไม่เรียนต้องอ่านหนังสือยังไงค่ะ
พอดีเพิ่งอยู่ป.6จะขึ้นม.1ค่ะ
การเรียนพิเศษจำเป็นไหม…???
ขึ้นอยู่กับว่าตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ว่ายังไง ถ้าต้องการเรียนต่อในโรงเรียน คณะ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากๆ ก็จะตอบว่า “จำเป็น” หรือว่าถ้าต้องการเรียนเพราะว่าเรียนในห้องตามไม่ทัน ก็จะตอบว่า “เรียนก็ได้” เพราะอาจจะทบทวนเพิ่มเติมด้วยตนเอง ถามเพื่อนถามครู แต่ถ้าตั้งเป้าหมายว่าแค่เรียนจบหลักสูตร ไม่ได้เข้าคณะยากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้
ตัวเราเองนั่นแหละที่จะเป็นคนตอบได้ว่า สิ่งที่เรียนในห้องเพียงพอสำหรับการเราหรือเปล่า ถ้าพอแล้วก็ไม่รู้เรียน ถ้ายังไม่พอ ก็เรียนครับผม
หรือถ้าจะต้องเรียน ก็ให้เรียนเฉพาะเท่าที่คิดว่าจำเป็นก็พอครับผม
ขอเอาไปจัดบอรืหน้าห้องเรียนน่ะค่ะ…คุณครูพี่อั๋น….
ตามสะดวกครับผม ยินดีครับ
เขียนเก่งจังค่ะ
สรุปความมาน่ะครับ…ใสความคิดตัวเองเข้าไปเล็กน้อยครับ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับผม
จะพยายามทำให้ได้นะค่ะ