ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เป็นบุตร ขุนประทุมสิริพันธ์ (เจริญ บัวศรี) กับ นางประทุม สิริพันธ์ (เปล่ง) เกิดที่บ้านตำบลสันใย อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2459 (ปีเดียวกับ กาเย่ นักจิตวิทยาและเจ้าตำรับทฤษฎีการเรียนรู้ชาวอเมริกัน)
เมื่อเยาว์วัย ท่านเรียนชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เข้าเรียน ชั้นมัธยมที่ โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่ออายุเพียง 14 ปี แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนต่อที่ โรงเรียนแองโกลไซนีส ปีนัง ตลอดเวลา 3 ปี ที่เรียนอยู่ที่นั่น ท่านสอบไล่ได้ที่ 1 ทั้ง 3 ปีซ้อน
หลังจากนั้นได้ กลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระราชวังสนามจันทร์หลักสูตร 2 ปี เรียนจบหลักสูตรได้รับ ประกาศนียบัตรครูประถม หรือ ป.ป. แล้วสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญา ที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 ปี แล้วศึกษาต่อหลักสูตร อนุปริญญาครูมัธยม หรือ ป.ม. อีก 1 ปี
ทันทีที่สำเร็จในปีพุทธิศักราช 2482 ก็เริ่มเข้ารับราชการเมื่ออายุ 24 ปี ในตำแหน่ง รั้งอาจารย์ผู้ช่วยโท โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีต่อมา ได้รับคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการให้ดำรงตำแหน่งครูโทในกรมสามัญศึกษาอยู่ 2 เดือน ก็ได้ย้ายไป โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จังหวัดภูเก็ต สอนอยู่ปีเดียวก็ได้เป็นครูใหญ่ ท่านสามารถประสานงานจนเป็นที่ยอมรับและนิยมรักใคร่ของทุกฝ่ายทั้งคณะครู ผู้ปกครองตลอดจนข้าราชการและนักธุรกิจ
ปีพุทธศักราช 2489 ได้ย้ายให้เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร วังจันทร์เกษม ซึ่งไม่นานก็เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร ปัจจุบันคือ สถาบันราชภัฏพระนคร
ปีพุทธศักราช 2490 ท่านสอบชิงทุนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ที่ 1 ได้รับทุนไปเรียนวิชาศึกษาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท ได้ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต เมื่อปี 2491 และได้การศึกษาดุษฎีบัณฑิต ในปี 2494 มีผลการเรียนเป็นเยี่ยมสมาคมเกียรตินิยมการศึกษาของสหรัฐอเมริกา หรือ PDK ได้เชิญให้ท่านเป็นสมาชิกทันทีและมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ยังเชิญให้เป็นอาจารย์ผู้ช่วยเป็นเวลา 1 ปี
เมื่อ กลับมาเมืองไทยในปี 2495 กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและวุฒิสูง อายุก็เพิ่ม 36 ปี ยังมีอนาคตอีกไกล จึงส่งให้ไปประจำที่ โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร ( ขณะนั้น หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (สวัสดิ์ สุมิตร) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ เป็นบุคคลสำคัญที่ร่วมก่อตั้งโรงเรียนนี้กันมากับ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และ หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย )
แต่เดิม โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร นั้น ตั้งอยู่ในท้องทุ่งแสนแสบ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2492 รับผู้เรียนสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 หรือ ม. 3 ในปัจจุบันมาเรียนต่อ 3 ปี จบแล้วได้รับวุฒิ ประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) และถ้าเรียนต่ออีก 2 ปี จะได้ประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) ซึ่งเป็นวุฒิสูงสุดของวิชาชีพครูขณะนั้น
ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง เมื่อ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2496
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการได้มาไม่นานนัก ก็เสนอให้ตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษา ขึ้น เพื่อเปิดสอนหลักสูตร 2 ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิ ป.ม. หรือเทียบเท่า 4 ปี สำหรับผู้มีวุฒิป.ป. หรือเทียบเท่า ให้มีโอกาสได้เรียนปริญญาตรีทางวิชาชีพครู กระทรวงศึกษาธิการได้นำมติสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีมาจัดตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษา ขึ้นตามคำเสนอแนะของ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช โดยตรง และตราเป็นพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2497 และช่างบังเอิญ วันที่ 16 กันยายน ตรงกับวันเกิดของ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช พอดี
ก่อนที่โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร จะกลายมาเป็น วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร นั้น ไม่ง่ายนัก ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช ได้ใช้ความมานะพยายามและความอดทนเป็นอย่างยิ่งในการชี้แจงกับรัฐบาลว่าที่ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะตอนนั้นในหมู่ประชาชนความคิดที่ว่า จะได้ครูเรียนถึงปริญญายังไม่มี ดังนั้น การเสนอให้ครูมีการศึกษาถึงระดับปริญญาเป็นของที่แปลกมาก อีกประการหนึ่งนั้นจะให้สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยประสาทปริญญานี้ยิ่ง ไม่เข้าใจใหญ่
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช ได้บริหารและนำนาวาแห่งสถาบันวิชาการศึกษาไปด้วยความสง่างาม ในวันที่รับบัณฑิตรุ่นแรก ดร.สาโรช ได้เขียนคำขวัญติดป้ายประกาศไว้ว่า ในการฝึกบัณฑิตนั้น วิทยาลัยวิชาการศึกษามีความมุ่งหมายใหญ่ๆ อยู่ 3 ประการ คือ ประการที่ 1 ให้บัณฑิตได้มีความรู้ในทางวิชาการเป็นอย่างดี ประการที่ 2 ให้บัณฑิตได้มีความรู้ในทางวิชาชีพครูเป็นอย่างดี และประการที่ 3 ให้บัณฑิตได้เกิดมีความสามารถต่างๆ เช่น ความสามารถในการปกครองและอบรม ความสามารถในการสอนและการใช้อุปกรณ์การสอน ความสามารถในการติดต่อกับผู้ปกครองและประชาชน ความสามารถในการค้นคว้าและวิจัย เป็นต้น
คำขวัญนี้ชี้ให้เห็นความมุ่งหมายของวิทยาลัยอย่างชัดเจน ตรงตามคติพจน์ที่ท่านให้ไว้ว่า “นักศึกษาทุกคน มีความรู้ประดุจนักปราชญ์ และมีความประพฤติประดุจผู้ทรงศีล”
ส่วน สัญลักษณ์นั้น ท่านได้เคยพูดไว้ว่า ตราของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ผมเป็นผู้คิดตอนนั้น เราเป็นสถานศึกษาใหม่ๆ สีก็ไม่มี ตราก็ไม่มี บังเอิญเมื่อตอนเรียนปริญญาตรีผมได้เรียนคณิตศาสตร์ จึงรู้ว่ามีเส้นกราฟอยู่เส้นหนึ่งสมการของมันก็คือ y = e ยกกำลัง x เวลาพล็อตกราฟแล้ว เส้นกราฟจะขึ้นเรื่อยไม่มีวันลง ประดุจจรวดขึ้นไปในอวกาศ ถ้าจะนิยามคำว่าการศึกษาละก็อาจจะทำได้สองอย่าง คือ การศึกษาชนิดที่เป็นภาวะ อย่างหนึ่งและการศึกษาชนิดที่เป็นการกระทำ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นการศึกษาที่เป็นภาวะ แล้วก็อาจพูดได้ว่า
การศึกษา คือ การงอกงาม งอกงามไปเรื่อยๆ ไม่มีวันรู้จักจบสิ้น แต่ถ้าเป็นทางการกระทำก็แปลว่า “การที่เราจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนเพื่อว่าผู้เรียนจะได้งอกงามขึ้น อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน”
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความคล่องตัวเป็นที่เคารพรักอย่างยิ่งของบุคลากรใน วิทยาลัยแห่งนั้น ทั้งคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ตลอดจนนักศึกษา แม้ตำแหน่งของท่านจะเป็นเพียงรองอธิการและหัวหน้าคณะวิชาการศึกษา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 จึงได้รับดำรงตำแหน่ง รักษาการอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา และดำรงตำแหน่ง อธิการ เป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2503 และได้เป็น ศาสตราจารย์ ในปีเดียวกันนั้น ท่านเป็นจุดศูนย์รวมของศิษย์ทุกคนในรั้วประสานมิตร
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช เป็นครูที่มีความเมตตา มีเหตุมีผล และได้นำนวัตกรรมทางการศึกษามาใช้ ทำให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาสมัยนั้นรุ่งโรจน์มาก ใครๆ ก็อยากเข้ามาศึกษา
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช เป็นผู้ใฝ่ใจศึกษาในเรื่องธรรมะอย่างแตกฉาน และได้ริเริ่มนำเอาพุทธปรัชญามาเรียงถ้อยคำให้เป็นปรัชญาการศึกษาไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาทั้งกระบวนการมีรากฐานสัมพันธ์กับพุทธศาสนา
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช เป็นครูที่มีน้ำใจเป็นประชาธิปไตย และปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยแก่ลูกศิษย์อยู่เสมอ
ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช ได้ร่วมคิดกับนักศึกษาไทยอีกหลายท่าน เพื่อให้มีองค์กรทางการศึกษา ทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางการศึกษาแผนใหม่ และการฝึกหัดครูในประเทศไทย จึงได้ก่อตั้ง สมาคมการศึกษา ขึ้นและท่านได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคม เป็นคนแรก
เมื่อ แรกตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษานั้นมีคณะศึกษาศาสตร์เพียงคณะเดียว แบ่งเป็น 4 สาขา คือ สาขาการประถมศึกษา การมัธยมศึกษา การบริหารการศึกษา และการอาชีวศึกษา ปัจจุบันหลังจากที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยศรี นครินทรวิโรฒ
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พุทธศักราช 2517 คณะศึกษาศาสตร์ได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ บนรากฐานที่มั่นคงแห่งปรัชญาและปณิธานอันแน่วแน่ของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ซึ่งเปิดสอนวิชาชีพครูถึงระดับปริญญาเอกเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
ในด้านครอบครัว ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช สมรสกับ อาจารย์สิรี ศิริจรรยา บุตร หลวงศรีรัตนากร ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช กับ อาจารย์สิรี นั้นเป็นเพื่อนเรียนรุ่นเดียวกันมาก่อนตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ และที่แผนกฝึกหัดครูมัธยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้นความใกล้ชิดสนิทสนม ความเห็นอกเห็นใจ ความรักและความผูกพันจึงมีต่อกันเป็นอันมาก ประกอบกับไม่มีบุตรท่านทั้งสองจึงอยู่ด้วยกันเพียง 2 คน ไปไหนมาไหนมักไปด้วยกัน โดยเฉพาะเวลาเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากที่อาจารย์ศิรี ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2526 แล้ว ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช ก็มีแต่ความทุกข์
ในบรรดาครูส่วนใหญ่ที่พยายามวางตัวเยี่ยงแม่พิมพ์ของชาตินั้น ยังมีครูอีกจำนวนหนึ่งที่สามารถประพฤติปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยม คือ พูดอย่างไร สอนศิษย์อย่างไร ตนก็จะทำอย่างนั้น ไม่บิดเบี้ยวเป็นอย่างอื่น และหนึ่งในครูที่กล่าวถึงนี้ คือ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ซึ่งใครๆ ยอมรับและยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการศึกษาและการฝึกหัดครูแผนใหม่ เป็นปูชนียบุคคล เป็นดั่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ ไว้ว่า
“นักพรตผู้ประพฤติสมปากสอน เป็นสิ่งประเสริฐสุนทรควรอภิวาท” ซึ่งข้อประพฤติของครูท่านนี้ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นที่ประทับใจศิษยานุ ศิษย์ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายที่รู้จักคุ้นเคย และคนเหล่านี้ต่างเป็นตรงกันว่าท่านคือ ปราชญ์ผู้มีคุณธรรมประดุจผู้ทรงศีล ผู้จุดประทีปส่องสว่างให้แก่วิชาชีพครู
ขอบพระคุณที่มาด้วยความเคารพ
จากบทโทรทัศน์ “ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี : ผู้จุดประทีปส่องสว่างให้แก่วิชาชีพครู”
โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรบุญฤทธิ์ ควรหาเวชศิษฐ์
http://www.mitrprasarn.com/index.php/2011-06-19-18-20-27/151-2011-06-19-18-13-12/1049-2010-07-18-06-00-26
เพิ่งรู้จักท่าน ผ่านสื่อจากการบรรยายธรรมะ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ ในการที่จะต่อยอดจาก ดร.สาโรช
ได้วางรากฐานในวัฒนธรรมการเรียนรุ็ ให้คิดเป็นในแนวทางเจริญสร้างทรัพย์ทางปัญญา อันเป็นการสร้างทรัพย์ใหม่ และไม่เสี่ยงที่จะทำลายทรัพย์เก่า
โชคดี ที่ได้มีโอกาสเป็นศิษย์ของท่าน ที่ประสานมิตร และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่กรมการฝึกหัดครู คุณงามความดีของท่านยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอ
ด้วยเป็นลูกกราฟเหมือนกัน อ่านแล้ว คิดถึงมหาวิทยาลัยจังคะ คิดถึงความเจริญงอกงามอันได้จากการศึกษา
อยากบอกว่า มศว มีส่วนช่วยในการผลักดันให้ยังคงสานต่ออุดมการณ์ ที่จะทำให้การศึกษาลงไปสู่นักเรียน