การเรียน Online ได้ครึ่งเสียครึ่ง

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

 

เมื่อกล่าวถึงการเรียนแบบ Online จะมีการแสดงถึงคุณประโยชน์อย่างมหาศาล จนยากที่ใคร ๆ จะโต้แย้งหรือคัดค้าน เพราะคุณสมบัติของเทคโนโลยีที่นำมาใช้สามารถลดข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งเวลาและสถานที่ของการเข้าถึงความรู้ และสามารถจัดการเรียนการสอนให้กับผู้ที่อยู่ในสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเรียนแบบปกติ ได้ การเรียน Online สามารถแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ และความดีงามของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษา สามารถลดข้อจำกัดเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งเป็นประเด็นทางสังคม สามารถส่งเสริมการจัดการศึกษาสนองความต้องการที่หลากหลาย และเกิดความคุ้มประโยชน์อย่างมากในการลงทุนทางการศึกษาด้วยการนำเทคโนโลยี Online มาใช้

การเรียน Online หรือ Online Learning เป็นการเรียนด้วยการใช้ Internet โดยผู้เรียนกับผู้สอนไม่ต้องอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน การเรียนที่ตรงข้ามกับการเรียน Online คือ การเรียนแบบปกติ (Usual Instruction) ที่มีผู้สอนและผู้เรียนอยู่ในห้องเรียนเดียวกันเห็นหน้ากัน หรือ เรียกว่า แบบ “face-to-face” การเรียนแบบ Online นี้จัดเป็นการศึกษาทางไกล ตามประกาศของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เรื่อง แนวปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอเปิดและดำเนินการหลักสูตรระดับปริญญาระบบการ ศึกษาทางไกล พ.ศ. 2548 ลงประกาศเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2549 โดยเฉพาะในข้อ 7.3 ที่เป็นการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และบังคับให้การเรียนการสอนมีองค์ประกอบ หลักอยู่ 12 ประการ ได้แก่ (1) Homepage (2) Content Presentation (3) Learning Resources (4) External Resources (5) E-Laboratory (6) AV Center (7) Assessment (8) Web board (9) Chat room (10) E-mail Address (11) Frequency Asked Questions และ (12) Personal profile

การส่งเสริมการ เรียน Online เกิดขึ้นโดยแรงผลักดันของเทคโนโลยีและการใช้ ความรู้ ความคิดและเหตุผลเชิงตรรกะของนักวิชาการโดยมีคุณสมบัติและความก้าวหน้าของ เทคโนโลยีเป็นฐานการคิด จึงเป็นที่น่าเชื่อถือและคิดว่าว่าจะได้ผลดี เพราะมีการนำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ทันสมัยมาใช้ มีการบังคับให้ผู้ที่ต้องการจัดการศึกษาหรือสถาบันการศึกษาแสดงความพร้อมใน การใช้โปรแกรมชุดคำสั่งหรือ Software ให้มีระบบการจัดการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Learning Management System-LMS) ให้มีการพัฒนาระบบการจัดการเนื้อหา (Content Management System-CMS) ให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการการอุดมศึกษาดังกล่าวข้างต้น จึงเกิดเป็นความมั่นใจกับผลที่เกิดขึ้น และเป็นที่คาดหมายว่าเป็นคุณค่าที่ดีงามเหมาะสมในการจัดการศึกษาในอุดมคติ หรือ เป็น “คุณค่าในอุดมคติมากกว่าคุณค่าเชิงประจักษ์”

เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดแสดงถึงคุณค่าที่แท้จริง หรือคุณค่าที่ประจักษ์ การโปรโมชั่น หรือส่งเสริมจึงเกิดขึ้นมาก มีการนำเสนอข้อมูลแสดงจำนวนและตัวเลขของผู้ที่เรียนในระบบ Online ในต่างประเทศให้เห็นถึงความสำเร็จในการโปรโมชั่น ผู้บริหารบางท่านได้รับข้อมูลก็หลงใหลเชื่อถือกับคุณภาพและประสิทธิภาพของ การเรียน Online และดูเหมือนผู้บริหารส่วนหนึ่งจะเชื่อว่า การเรียน Online จะเปลี่ยนแบบแผนหรือค่านิยมของการเรียนได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีผลการศึกษาเชิงประจักษ์จำนวนมากในสหรัฐอเมริกายืนยันตรงกันพบว่า การเรียนแบบ Online ได้ผลเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงเป็นการเรียนที่ “ได้ครึ่งเสียครึ่ง” ซึ่งควรจะได้ผลอย่างน้อย 70-80 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับการเรียนแบบปกติ มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชุมชนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปปิดหลักสูตรการ ศึกษา Online และมีคำถามเชิงวิชาการเกิดขึ้นถึงคุณค่าของการเรียน Online ที่แท้จริงมากขึ้น

ในประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งที่เปิดการเรียนการสอนแบบ Online ซึ่งเมื่อเริ่มเปิดหลักสูตรคิดว่าจะทำกำไรได้อย่างมากเพราะลงทุนน้อยแต่รับ ผู้เรียนได้จำนวนมาก รวมทั้งคิดว่าผู้เรียนคงชอบการเรียนทางไกลแบบ Online เพราะไม่ต้องเดินทางไปเรียน หรือเรียนที่ไหน เมื่อไรก็ได้ จึงหันมาขอเปิดหลักสูตรการศึกษาทางไกลด้วยการเรียนแบบ Online เมื่อเปิดเรียนอาจมีการโปรโมชั่นหาผู้สมัครมาเรียนได้จำนวนมาก แต่เมื่อเรียนไประยะหนึ่งพบว่า ผู้เรียนลดลงจำนวนมากเช่นกัน บางแห่งลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เรียนทั้งหมด อัตราการจบการศึกษามีน้อย ทำให้ต้องมีการปรับตัวแก้ไขปัญหาให้กับผู้เรียน นำไปสู่ปัญหาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษา

อาจารย์ ดร. ดุษฎี สีวังคำ อาจารย์มหาวิทยาลัยสยามได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแบบจำลองการสอนทางไกลบนอินเทอร์เน็ตสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนใน ประเทศไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ระดับปริญญาเอกหลักสูตร Ph.D. Technical Education Technology หรือ ปรด. เทคโนโลยีเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ การศึกษานี้เป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาทางไกลตามประกาศของ สกอ. และได้วิเคราะห์ประสิทธิภาพของแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นในหลายด้าน ในด้านหนึ่งของการศึกษานี้พบว่า ประสิทธิภาพของระบบการสอนทางไกลบนอินเทอร์เน็ตขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของ ผู้เรียนอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า ถ้าผู้เรียนมีความรับผิดชอบสูงระบบการศึกษาทางไกลก็จะมีประสิทธิภาพให้ผู้ เรียนสำเร็จการศึกษาได้มาก และเป็นเช่นเดียวกันในทางกลับกัน

คุณค่าของการเรียน Online ที่เป็นคำถาม

1. ผู้เรียนต้องการเรียน Online อย่างแท้จริงหรือเป็นการหยิบยื่นให้ การให้ทางเลือกในการเรียนกับผู้เรียนด้วยการเสนอเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีเจตนาคิดขึ้นเพื่อการเรียนการสอน แต่นำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนแบบ Online คำถามคือ การเรียน Online เป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ เป็นการสนองความต้องการทางการเรียนของผู้เรียนที่ต้องการเรียน Online ที่แท้จริง

2. การเรียน Online เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับใคร สำหรับผู้อยู่ในวัยเรียนอาจเป็นการตอกย้ำความหย่อนสมรรถนะทางการเรียนในระบบ การเรียนปกติของผู้เรียน ความหย่อนสมรรถนะมีความหมายรวมทุกด้านที่เป็นสมรรถนะของผู้เรียน ทั้งด้านกาย ปัญญา อารมณ์ เศรษฐกิจและสังคม การสมัครเข้าเรียน Online เป็นทางเลือกเพื่อการรอเรียนที่อื่น เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีการ “ออกกลางคัน” หรือ Dropout ก่อนจบการศึกษาจำนวนมาก ถึงแม้การเรียน Online จะเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มคนเฉพาะบางกลุ่มก็ตาม แต่คำถามคือ การเรียน Online เหมาะสมที่จะเป็นทางเลือกของกลุ่มคนวัยเรียนหรือไม่ และเหมาะสำหรับใครบ้าง

3. การเรียน Online ใช้ได้กับทุกรายวิชาหรือไม่ การถกเถียงเพื่อเอาชนะในคำถามนี้ไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่ผู้ที่อยู่ในสาขาอาชีพต่าง ๆ ยืนยันว่า ไม่สามารถสอนได้กับทุกรายวิชาในสาขาวิชา ดังนั้นการเรียนแบบ Online จึงไม่ตอบสนองการเรียนได้ทุกรายวิชา คำถามคือ รายวิชาอะไรที่ใช้การเรียน Online ได้ดี รายวิชาอะไรที่ใช้สอนพอได้ และรายวิชาอะไรที่ใช้ไม่ได้

4. การเรียน Online ควรใช้กับการศึกษาระดับใด การเรียน Online มีการโปรโมชั่นให้ใช้ได้กับทุกระดับการศึกษาถึงแม้เคยมีผลการศึกษาเสนอไว้ แล้วว่า การเรียน Online ใช้ได้ผลดีกับระดับบัณฑิตศึกษา แต่ก็ยังมีการพยายามนำมาใช้ในระดับที่ต่ำกว่าบัณฑิตศึกษา เพราะเมื่อมีการเรียนหรือได้รับอนุมัติให้มีการเรียน Online เกิดขึ้นก็จะมีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการ จัดการศึกษา ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ทั้งที่รู้และไม่รู้แฝงอยู่ในการโปรโมชั่นการเรียน Online ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นความชอบธรรมของระบบประชาธิปไตยที่ใช้เสียงข้างมาก ตัดสินซึ่งถูกวิจารณ์ว่า “เป็นความถูกต้องในการเลือกสิ่งที่ผิด” คำถามคือ การเรียน Online ควรใช้ในการศึกษาระดับใด และมากน้อยเท่าไร

5. การเรียน Online มีคุณภาพเทียบเคียงกับแบบปกติหรือไม่ การยอมรับระบบการศึกษาเป็นการพิจารณาถึงคุณภาพของระบบการศึกษาที่สามารถทำ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ มีสมรรถนะ และบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ และจะสามารถนำมาทดแทนการเรียนการสอนแบบปกติที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ คำถามคือ การเรียน Online สามารถทำให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ หรือสมรรถนะเท่าเทียมกับการเรียนแบบปกติหรือไม่ หรือมีสมรรถนะครบถ้วนตามที่ต้องการได้หรือไม่

สรุป

เมื่อมีจัดการเรียนการสอนทางไกลโดยการ เรียนแบบ Online และมีการนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทั้ง 12 รายการตามประกาศของ สกอ. ดังกล่าวมาใช้เป็นข้อกำหนด จะมีคำถามที่เกิดขึ้นตามมาอีกมาก ทั้งคำถามเชิงอุดมคติ หรือเชิงปรัชญาของการจัดการศึกษา และคำถามในเชิงปฏิบัติ ถึงแม้บางคำถามจะมีคำตอบแต่ก็เป็นคำตอบที่ยังสร้างคำถามอีกต่อไปได้ ไม่อาจเป็นคำตอบสุดท้ายได้

ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนการจัดการศึกษาทางไกลหรือ การเรียน Online เสียใหม่และเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดต่าง ๆ ตามประกาศที่อาจไม่มีความจำเป็นหรือเพิ่มเติมส่วนที่จำเป็นขึ้นอีกสำหรับการ เรียน Online รวมทั้งกำหนดแนวทางการโปรโมชั่น การเรียน Online ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดภาวะของ “ได้ครึ่งเสียครึ่ง” เหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

ไทยรัฐออนไลน์

Advertisement

One thought on “การเรียน Online ได้ครึ่งเสียครึ่ง

ปลื้มใจที่แวะเข้ามา ฝากข้อความสักหน่อยก็ไม่ว่าอะไรนะครับ ขอบคุณครับผม ^___^

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s