ไวรัสตับอักเสบ

การดูแลรักษาและป้องกันการติดต่อโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงชุติมา  ประมูลสินทรัพย์
หน่วยโรคทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

การติดเชื่อไวรัสตับอักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบีและซี เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้บางคนอาจจะดำเนินโรคเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ประมาณร้อยละ ๕ ของประชากรโลก หรือประมาณ ๓.๕ ล้านคน ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และมีผู้เป็นพาหะเชื้อไวรัสตับอักเสบปีมากกว่า ๓๗๐ ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้มากกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คนต่อปี และที่สำคัญประมาณร้อยละ ๗๐ ของผู้ที่เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นชาวเอเชีย สำหรับประเทศไทย นับเป็นแหล่งที่มีโรคตับอักเสบบีมากประเทศหนึ่งในโลก มีประชากรที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีถึงร้อยละ ๕ – ๑๐ หรือประมาณ ๕ – ๖ ล้านคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบยี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเฉียบพลันร้อยละ ๓๐ – ๔๐ และเป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบชนิดเรื้อรังถึงร้อยละ ๖๐ – ๗๐ ของผู้ป่วย ดังนั้นโรคไวรัสตับอักเสบบีจึงนับว่ามีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย แต่ในปัจจุบันหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีให้กับเด็กแรกเกินทุกคน ทำให้อุบัติการณ์ในคนไทยลดลงเหลือประมาณร้อยละ ๓ – ๕

ในประเทศไทยโรคไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรังและพาหะของเชื้อไวรัสมีประมาณร้อยละ ๑ – ๕ หรือประมาณ ๖ แสน ถึง ๓ ล้านคน นับเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบซี และที่สำคัญในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบซีด้วย

เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ติดต่อได้อย่างไร

การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถติดต่อได้คล้ายกับการติดเชื้อไวรัสบี และเชื้อไวรัสเอดส์ ในอดีตสามารถติดต่อได้โดยการได้รับเลือด หรือผลิตภัณฑ์ของเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อ เนื่องจากเพิ่งมีการตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัสตับอักเสบซีเมื่อไม่นานมานี้ แต่ในปัจจุบัน โอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจากการได้รับเลือดในโรงพยาบาลลดน้อยลงมาก เนื่องจากมีการตรวจเลือดที่รับบริจาคทุกรายอยู่แล้ว นอกจากนี้ไวรัสตับอักเสบยังติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีเชื้อ หรือติดต่อจากแม่ที่ติดเชื้อไปยังลูกได้ทั้งในขณะคลอด และในระยะให้นมลูก ซึ่งการได้รับเชื้อจากแม่นี้เป็นทางแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่สำคัญในประเทศไทย ผู้ป่วยโรคตับอักเสบบางคนอาจจะสงสัยว่าตนเองได้รับเชื้อมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้รับเลือดมาก่อนเลย จะมารู้ว่าเป็นตับอักเสบก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายประจำปี หรือเมื่อไปบริจาคเลือด ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะติดเชื้อจากการสัมผัสกับเลือด สารน้ำ หรือสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซีโดยไม่รู้ตัว เช่น อาจมีบาดแผลเล็กๆ หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง ทั้งนี้ เพราะเชื้อไวรัสตับอักเสบนี้พบได้ในสารน้ำและสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบทั้งในระยะเฉียบพลัน ระยะเรื้อรัง และผู้ที่เป็นพาหะของโรค ดังนั้น จึงติดต่อได้ทั้งทางน้ำนม น้ำลาย อสุจิ และเมือกในช่องคลอด การใช้เข็มฉีดยา มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ การเจาะหู อุปกรณ์ที่ใช้สัก หรือใช้ฝังเข็ม หรือขงมีคมซึ่งเปื้อนเลือดที่มีเชื้อ การทำฟัน ทำเล็บ หรือจากร้านตัดผลที่ใช้มีดโกนหนวดร่วมกัน หรือใช้แปรงสีฟันร่วมกันกับผู้ที่เป็นพาหะของโรค เป็นต้น

ถ้าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีแล้วจะมีอาการอย่างไร จะหายขาดหรือไม่ และถ้าไม่หายจะเป็นอย่างไรต่อไป

โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี มีระยะการฟักตัวประมาณ ๖ – ๘ สัปดาห์ ผู้ที่ได้รับเชื้อแล้วส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แยกไม่ได้จากคนปกติ หรือมีเพียงอาการอ่อนเพลียเป็นบางครั้ง คลื่นไส้ หรือเจ็บบริเวณตับเพียงเล็กน้อย หรือผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง ในระยะก่อนตาเหลืองจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน ส่วนใหญ่แล้วอาการจะทุเลาในเวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ และหายได้ภายในเวลาประมาณ ๒ – ๓ เดือน ส่วนน้อยอาจจะมีการอักเสบของตับอย่างรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในผู้ใหญ่พบว่าประมาณร้อยละ ๕ – ๑๐ ไม่หายขาดจะเป็นพาหะของโรคหรือตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งถ้ามีการอักเสบของตับอย่างต่อเนื่องจะมีการดำเนินโรคเข้สู่ระยะตับแข็ง หรือมะเร็งตับมักต้องในเวลานาน ๑๐ – ๒๐ ปี โอกาสที่จะเป็นโรคตับแข็งและตับแข็งและมะเร็งตับในแต่ละคนไม่เท่ากัน ผู้ป่วยบางคนมีการอักเสบของตับไม่รุนแรง ดำเนินโรคอย่างช้าๆ ไปตลอดชีวิต บางคนมีเชื้อแต่ก็ไม่เป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ ได้แก่ เพศชาย มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ ดื่มสุรา หรือไวรัสอื่นๆ ร่วมด้วย

โรคตับอักเสบจากไวรัสซีต่างจากไวรัสตับอักเสบบีที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซีมีเพียงร้อยละ ๑๐ – ๒๐ เท่านั้นที่มีโอกาสหายขาด แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ – ๙๐ จะกำจัดไวรัสออกได้ไม่หมด จึงยังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ในตัว กลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสซีตามมา ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด (อย่างนี้หมายความว่า คนเป็นตับอักเสบบี มีโอกาสกำจัดเชื้อไวรัสบีให้หมดไปจากร่างกายหรือเปล่า???)

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นตับแข็ง

โรคตับแข็งในคนไทยเกิดในผู้ป่วยบางคนที่เป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสบี และตับอักเสบจากไวรัสซีชนิดเรื้อรังนานประมาณ ๑๐ – ๒๐ ปี และในผู้ที่ดื่มสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ เป็นประจำ โรคตับแข็งเกิดหลังจากเป็นตับอักเสบเรื้อรังแล้ว โดยตับถูกทำลายทีละน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดพังผืดทั่วตับ ยังไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมบางคนจึงเป็นโรคตับแข็งในขณะที่บางคนไม่เป็น คนไข้โรคตับแข็งจำนวนมากอาจจะมาพบแพทย์เมื่อเป็นโรคตับแข็งแล้ว โดยไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคตับอักเสบหรือไม่ และไม่เคยมีอาการมาก่อนเพราะการทำงานของตับส่วนที่เหลือยังดีอยู่ แต่ถ้าตับส่วนที่ดีที่เหลืออยู่ทำงานแทนตับส่วนที่เสียไปแล้วไม่ไหวอาจจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อมาก อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร ดีซ่าน ท้องบวมเพราะมีน้ำในท้อง ขาบวม อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนถ่าน เพราะมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร หรือลำไส้ซึ่งเกิดจากเลือดไหลเข้าตับที่เป็นตับแข็งได้ไม่ดี เลยเกิดเป็นเส้นเลือดโป่งที่ระบบทางเดินอาหาร หรือมีอาการซึม สับสน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามไม่ควรรอจนมีอาการรุนแรงดังกล่าว ถ้ามีอาการเหนื่อยง่าย เห็นเส้นเลือดดำที่ผนังหน้าท้อง ฝ่ามือแดง ถ้าเลือดออกแล้วหยุดยากกว่าคนปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่เมื่อเป็นโรคตับแข็งแล้วจะรักษาได้ยาก และจะไม่หายเป็นปกติ ดังนั้น การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อาการทั่วๆ ไปดีขึ้น และป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงไปอีก และเพื่อคอยระวังโรคมะเร็งตับ ซึ่งถ้าตรวจพบในระยะแรกๆ ก็อาจจะรักษาได้ทัน

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี

การวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือสงสัยว่าเป็นพาหะของโรค ทำได้โดยการตรวจเลือดหาแอนติเจนของเชื้อที่เรียกว่า เอชบีเอสแอนติเจน (HBsAg: hepatitis B surface antigen) นอกจากนี้แล้วยังสามารถตรวจ อี แอนติเจน (HBeAg) แสดงว่าเชื้อไวรัสบีกำลังแบ่งตัว ซึ่งในภาวะนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อไวรัสบีติดต่อกับผู้อื่นได้ หรือตรวจหาปริมาณไวรัสตับ (HBV-DNA) จากเลือดโดยตรง นอกจากนี้ผู้ใดเคยติดเชื้อมาในอดีตและมีภูมิคุ้มกันต่อโรค จะทราบได้โดยการตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ เช่น anti-HBs

ส่วนการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หรือสงสัยว่าเป็นพาหะทำได้โดยการตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสซี (anti-HCV) หรือตรวจหาปริมาณของเชื้อไวรัสซี (HCV-RNA) โดยวิธี PCR

เมื่อเป็นไวรัสตับอักเสบบีและซีชนิดเฉียบพลันจะรักษาตัวอย่างไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบในระยะเฉียบพลันไม่ว่าจะเกิดจากไวรัสชนิดใดก็ตามเกือบทั้งหมดจะมีอาการทุเลาขึ้นเองภายในระยะเวลาประมาณ ๒ – ๓ สัปดาห์หลังเริ่มมีอาการ และมักจะหายเป็นปกติในเวลาประมาณ ๑ – ๓ เดือน ส่วนใหญ่ยังไม่มีไม่มียารักษาเฉพาะ ยกเว้นในโรคตับอักเสบในระยะเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบซี มีรายงานการใช้ยาฉีดอินเตอร์ฟีรอนอาจจะทำให้ลดอุบัติการณ์ของการเป็นพาหะหรือตับอักเสบเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม การรักษาหลักยังเป็นการรักษาทั่วไป และรักษาตามอาการ โดยส่วนใหญ่ถ้าผู้ป่วยมีอาการแข็งแรงดี รับประทานอาหารได้ สามารถพักดูแลตนเองที่บ้านได้ และไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ควรพบแพทย์เพื่อติดตามอาการเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจเกิดตับอักเสบเรื้อรังได้ในภายหน้าได้ เฉพาะผู้ป่วยบางคนเท่านั้นที่มีอาการุนแรงมาก แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล การรักษานี้มีเป้าหมายเพื่อลดความรุนแรงของโรคไม่ให้ตับถูกทำลายมากขึ้น เฝ้าระวังและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ลดอัตราการเสียชีวิต รวมทั้งป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิด และชุมชน หลักการที่สำคัญได้แก่

๑.  หมั่นรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดการใช้พลังงานของร่างกายซึ่งเป็นการลดการทำงานของตับ โดยทั่วไปควรพักผ่อนในบ้านอย่างเต็มที่ทั้งร่างกายและจิตใจ ประมาณ ๒ สัปดาห์นับจากการเริ่มมีอาการตาเหลืองตัวเหลือง การพักผ่อนนี้ไม่จำเป็นต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ถ้าไม่เหนื่อย โดยเดินไปเดินมา แต่ไม่ควรขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานมาก สามารถนั่งอ่านหนังสือ หรือทำงานบนโต๊ะที่บ้านได้ แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยแล้วต้องพักผ่อนทันที ไม่ควรอดนอน และควรงดการออกกำลังกายหักโหมประมาณ ๒ เดือน หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มออกกำลังกาย โดยเริ่มจากกิจกรรมเบาๆ ก่อน เช่น เดินช้าแล้วเพิ่มเป็นเดินเร็ว เล่นกีฬาเบาๆ เล่นดนตรี และต้องพักทันทีเมือเริ่มเหนื่อยแล้วจึงค่อยเพิ่มกิจกรรมให้มากขึ้น ผู้ป่วยสูงอายุ เด็กเล็กหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นควรพักผ่อนนานขึ้น อาจจะนานถึง ๔ สัปดาห์

๒.  รับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอ แต่ควรเป็นอาหารอ่อน และมีไขมันต่ำเพื่อให้ย่อยง่าย และป้องกันท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง และอาเจียน โดยทั่วไปนิยมให้รับประทานอาหารประเภทแป้งที่ย่อยง่าย และให้พลังงานมาก และที่สำคัญควรรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ เช่น เนื้อปลา เนื้อสัตว์อื่นๆ ไข่ เต้าหู้ และอื่นๆ แต่ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำหวานหรือน้ำตาลมากๆ หรือดื่มซุปไก่ ตามความเชื่อเดิม นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อโดยเฉพาะมื้อเช้า เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้สึกท้องอืดตอนเย็นจึงรับประทานอาหารมื้อเย็นได้ไม่มาก ตัวอย่างอาหารที่รับประทานได้ เช่น เข้าต้มกับอาหารย่างหรือนึ่งพวกปลา หมู หรือกุ้ง แกงจืด ต้มยำ โดยเลือกใช้เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน น้ำหวานชนิดต่างๆ และไอศกรีมชนิดที่มีไขมันต่ำ และควรงดอาหารที่มีไข้มันสูง เช่น แกงที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน เป็นต้น ขนมที่ใส่กะทิ เช่น วุ้นกะทิ ขนมหวานใส่กะทิ ข้าวเหนียวมะม่วง ทุเรียน ครีม เนย และอาหารทอด เป็นต้น

๓.  งดดื่มสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ควรงดตลอด หรืออย่างน้อยเป็นเวลา ๑ ปี หลังเป็นโรคตับอักเสบ เพราะแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อตับทำให้ตับอักเสบมากขึ้น

๔.  หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่เป็นอันตรายต่อตับ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแทย์ว่ายาที่ได้รับอยู่นั้นมียาใดที่อาจเป็นอันตรายต่อตับได้ เช่น ยารักษาวัณโรค ยาลดความดันโลหิตบางชนิด และยารักษาโรคผิวหนังบางชนิด เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงยาสมุนไพร ยาชุด หรือยาลูกกลอน เพราะอาจจะมีผลต่อตับได้

๕.  การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้คัน เป็นต้น

๖.  สังเกตว่าตนเองมีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการผิดปกติเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีความผิดปกติ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียนมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ ตาเหลือง ตัวเหลืองมากขึ้น มีเลือดออกง่าย มีจ้ำเลือดตามตัว หรือท้องบวมมากขึ้น สติสัมปชัญญะเปลี่ยนแปลงไป พูดจาเลอะเลือน สับสน ซึมลง หรือเริ่มมีภาวะตับวาย เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ โดยปกติแล้วแพทย์จะรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากเข้าไว้ในโรงพยาบาล

๗.  ป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิดและชุมชน ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ คนใกล้ชิด และญาติ ควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องถึงการติดต่อและการแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบว่าติดต่อกันได้อย่างไร และจะป้องกันอย่างไร เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว จะปฏิบัติตัวได้ถูก และไม่วิตกกังวลมากเกินไปว่าจะติดโรค เนื่องจากโรคตับอักเสบบีและซีติดต่อโดยทางเลือด และเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ไม่ออกมาทางอุจจาระ จึงไม่ติดเชื้อทางการรับประทานอาหาร ต่างกับการติดต่อเชื้อไวรัสเอ และ อี ซึ่งติดต่อได้โดยการรับทานอาหารทางปาก แต่เชื้อไวรัสบีและซีหลั่งออกมาในสารคัดหลั่งอื่นๆ ได้ จึงต่องระมัดระวังเรื่องบาดแผล การใช้ของมีคม หรือของที่สัมผัสกับเลือกผู้ป่วย เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน เป็นต้น และควรงดการร่วมเพศในระยะที่มีอาการตับอักเสบอยู่ หรือใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่สัมผัสกับสิ่งที่อาจจะมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่

ผู้ที่ตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ผู้ที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบขณะไปตรวจเลือดประจำปี หรือตรวจพบเวลาไปบริจาคเลือด ไม่ควรตกใจหรือวิตกกังวลมาก เพราะคนที่เป็นแบบนี้มีจำนวนไม่น้อย และพบได้บ่อย คนไทยประมาณร้อยละ ๕ – ๑๐ หรือเท่ากับประมาณ ๓ – ๖ ล้านประชากรไทยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และในกรณีของตับอักเสบซี มีประชากรไทยประมาณร้อยละ ๑ – ๕ หรือเท่ากับประมาณ ๖ แสน ถึง ๓ ล้านคน ที่ติดเชื่อไวรัสตับอักเสบซี

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซี เรื้อรังส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเลย แยกไม่ได้จากคนปกติ หรือมีเพียงอาการอ่อนเพลียเป็นบางครั้ง คลื่นไส้ หรือเจ็บบริเวณตับเพียงเล็กน้อย ผู้ติดเชื้อบางคนมารู้ว่าตนเองเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือพาหะ ก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายประจำปี หรือเมื่อไปบริจาคโลหิต ซึ่งธนาคารเลือด หรือศูนย์บริการโลหิต ถ้าตรวจเลือดพบ HBsAg บวก บ่งบอกว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบี หรือพบแอนติบอดีต่อไวรัสตับอักเสบซี (anti-HCV) บ่งบอกว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซี ก็จะแจ้งให้ผู้บริจาคโลหิตทราบ เพื่อให้ไปตรวจเลือดซ้ำ

ผู้ที่ตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ในครั้งแรกจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจเลือด ดูการทำงานของตับว่ามีการอักเสบของตับแบบเรื้อรังหรือไม่ ถ้าระดับเอนไซม์เอแอลที (ALT) ในเลือดสูงนานเกินกว่า ๖ เดือน ถือว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ควรไปพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อติดตามเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อน เนื่องจากตับอาจถูกทำลายมากขึ้นจนเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ แพทย์มักจะตรวจร่างกาย และตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์ทุก ๖ เดือน หรือ ๑ ปี เมื่ออายุมากขึ้นก็จะตรวจบ่อยขึ้น เพื่อเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับ โดยการตรวจเลือดวัดระดับสารบ่งบอกมะเร็งตับ อัลฟาปีโตโปรตีน (Alpha fetoprotein หรือ AFP) และตรวจหาก้อนในตับโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ การไปพบแพทย์เป็นระยะๆ ทุก ๖ เดือนหรือทุกปีนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเกิดโรคแทรกซ้อนแล้วจะได้รักษาทัน โรคตับแข็งในระยะแรกสามารถป้องกันและชะลอไม่ให้เป็นมากขึ้นได้ และถ้าตรวจพบมะเร็งตับระยะเริ่มแรกก็จะสามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

แต่ถ้าตรวจพบว่าระดับเอนไซม์เอแอลที (ALT) ปกติ ถือว่าเป็นพาหะของโรค ก็ไม่ควรวิตกกังวลมากนัก เพราะโอกาสที่จะเกิดโรคตับแข็ง หรือโรคมะเร็งตับน้อยกว่าคนที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ควรตรวจวัดระดับเอนไซม์ของตับทุก ๖ เดือน และเมื่ออายุเกิน ๔๐ ปี ควรจะเริ่มตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับ โดยการตรวจเลือดวัดระดับอัลฟาฟีโตโปรตีนด้วย

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังและพาหะของไวรัสตับอักเสบบี หรือซี จะปฏบัติตัวอย่างไร

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังและพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบ สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรปฏิบัติตัวเพิ่มเติม ดังนี้

๑.  หมั่นรักษาสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง พักผ่อนตามสมควร ไม่ทำงานหักโหม ไม่นอนดึก และไม่อดนอน

๒.  ห้ามดื่มสุราและแอลกอฮอล์ รวมทั้งสารที่อาจจะเป็นอันตรายต่อตับโดยเด็ดขาด

๓.  ออกกำลังกายเป็นประจำ และบริหารร่างกายโดยไม่หักโหม และควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องออกแรงมาก ต้องแข่งขัน หรือต้องเหนื่อยมาก เมื่อรู้สึกเพลียต้องหยุดพัก

๔.  รับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบทุกหมู่ ทั้งปริมาณ และคุณภาพ และควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลา

๕.  งดสูบบุหรี่

๖.  ไม่ซื้อยากินเอง เพราะยาหลายชนิดเป็นพิษต่อตับ และยาหลายชนิดจะออกฤทธิ์มากเกินไปหรือน้อยเกินไปถ้าเป็นโรคตับ ก่อนซื้อยาทุกครั้งต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าตนเองเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือตับแข็ง

๗.  เมื่อมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเป็นระยะ ผู้เป็นพาหะหรือผู้ป่วยที่อายุเกิน ๔๐ ปี หรือประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งตับ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเป็นระยะๆ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง หรือตามที่แพทย์นัด

๘.  ผู้ที่เป็นพาหะและกำลังเป็นตับอักเสบเรื้อรังสามารถที่จะตั้งครรภ์ และมีบุตรได้ตามปกติ แต่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบตอนฝากครรภ์เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดขึ้น และสามารถป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังบุตร โดยใช้วัคซีนและอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin) แก่บุตร

๙.  ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังในบางครั้งอาจจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง เนื่องจากมีการอักเสบของตับแบบเฉียบพลันขึ้นได้ อีกเป็นพักๆ ซึ่งมักเกิดจากการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครียด นอนพักผ่อนไม่พอ นอนดึก หรือกินยาบางชนิด การรักษาในระยะนี้เหมือนกับในผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลัน เมื่อหายแล้วต้องระมัดระวังไม่ให้มีการอักเสบใหม่แบบนี้เกิดขึ้นอีก

โรคตับอักเสบเรื้อรังรักษาได้หรือไม่

คนที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรังบางคนอาจจะหายเองได้ บางคนที่ไม่หายและมีภาวะตับอักเสบควรพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ถ้าไม่มีข้อห้ามในการรักษา หรือไม่มีประวัติแพ้ยาที่เคยใช้รักษามาก่อน เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสกลายเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับได้สูงกว่าคนทั่วไป โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับสูง คือ ผู้ป่วยชายที่มีอายุมากกว่า ๔๐ ปี มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับ และตับแข็ง การรักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังชนิดบีและซีมีรายละเอียดและข้อควรระวังมาก จึงควรรักษาโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะโรค

ก่อนการรักษาแพทย์จะทำการตรวจประเมินสภาพการทำงานของตับโดยละเอียด และทำการวินิจฉัยให้แน่ใจว่าอาการตับอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัสจริง ตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือด และควรได้รับการการตรวจพยาธิสภาพของเซลล์ตับโดยละเอียด โดยใช้เข็มเจาะเข้าไปในเนื้อตับเพื่อเอาชิ้นเนื้อตับมาตรวจประเมินความรุนแรงของโรคตับอักเสบ ซึ่งการตรวจตับแบบนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะต้องทราบพยาธิสภาพการอักเสบของตับโดยละเอียดก่อนรักษา (ทำไมผมถึงไม่ได้ทำอย่างนั้น-นฤพนธ์) ซึ่งการตรวจมีความปลอดภัยสูงในมือแพทย์ที่มีความชำนาญ และในไวรัสตับอักเสบซีจะตรวจสายพันธุ์ของไวรัสเพื่อใช้ในการตัดสินใจในการให้การรักษา

ยารักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี

ในปัจจุบันยาชนิดฉีดและยากิน ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาดีพอสมควรแล้ว คือ ยาฉีดอินเตอร์ฟีรอน (Interferon) และยากินกามิวูดีน (Lamivudine) และเอดิโฟเวียร์ (Adefovir) เป็นต้น การรักษาโดยการใช้ยานี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส ลดการอักเสบของตับ และความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ และลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

ยาอินเตอร์ฟีรอน (Interferon) มีใช้มานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว อาศัยหลักการที่ร่างกายสร้างสารอินเตอร์ฟีรอนจากเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) เพื่อกำจัดไวรัส แต่ในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมีสารนี้ไม่เพียงพอที่จะกำจัดไวรัสให้หมดไป จึงต้องให้อินเตอร์ฟีรอนจากภายนอกเข้าไปเสริม โดยฉีดติดต่อกันนาน ๔ – ๖ เดือน ยานี้จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวและลดจำนวนของไวรัสในตับ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อต้านไวรัส ช่วยลดการอักเสบของตับ และการรักษานี้ใช้ได้เฉพาะในรายที่มีภาวะตับอักเสบเท่านั้น และจะไม่ได้ผลในรายที่เป็นพาหะ และไม่ควรให้ในผู้ป่วยระยะตับแข็งชนิดรุนแรง ผลอาการข้างเคียงที่พบ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว กดการสร้างเม็ดเลือด เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายได้หลังหยุดใช้ยา

ยากินกามิวูดีน (Lamivudine) ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส และอาจมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยช่วยกระตุ้นทางอ้อมให้ทีเซลล์ตอบสนองต่อการกำจัดไวรัสได้ดีขึ้น ในระยะแรกจำนวนไวรัสลดลงอย่างมาก ยานี้ใช้ได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังและในระยะตับแข็ง ต้องกินยาทุกวัน ข้อดี คือ ผลข้างเคียงน้อยมาก อาจต้องปรับขนาดในผู้ป่วยโรคไต แต่ข้อเสีย คือ ไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน และควรกินจนกว่าเอนไซม์ตับกลับมาเป็นปกติ ไม่พบปริมาณไวรัสในเลือด และมีการหายของ HBeAg และควรทานยาไม่ต่ำกว่า ๑ ปี นอกจากนี้อาจจะเกิดเชื้อดื้อยา (YMDD-mutation) เมื่อได้รับยาเป็นระยะเวลานาน

เอดิโฟเวียร์ (Adefovir) เป็นยาต้านไวรัสตัวใหม่ ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส ได้รับการรับรองให้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกในการรักษาไวรัสตับอักเสบบีเช่นเดียวกับยา ๒ ชนิดแรก มีใช้ในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ ยานี้ใช้ได้ผลดีทั้งในผู้ป่วยรายที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง และระยะตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบี และในผู้ป่วยที่ดื้อยาลามิวูดีน ต้องกินทุกวัน ข้อดีคือ มีการเกิดเชื้อดื้อยาน้อยกว่าลามิวูดีน และมีผลการรักษาดีกว่ายาเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถสร้าง อี-เอนติเจนได้ ข้อเสียคือ ไม่ทราบระยะเวลาในการรักษาที่แน่นอนเช่นเดียวกับยาลามิวูดีน และขณะให้ยาควรตรวจการทำงานของไตเป็นระยะๆ

เนื่องจากผลการรักษาไวรัสตับอักเสบบีในปัจจุบันยังไม่ดีนัก และมีปัญหาการดื้อยา จึงมีการศึกษายาต้านไวรัสตับอักเสบบีหลายชนิด ซึ่งยาที่มีแนวโน้มว่าให้ผลการรักษาดีทั้งในไวรัสพันธุ์ปกติและไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถสร้างอี-แอนติเจนได้ ได้แก่ แพ็ก-อินเตอร์ฟีรอน (PEG-Interferon) และเอนติคาร์เวียร์ (entecarvir)

การรักษาโรคตับอักเสบบีด้วย PEGASYS® (Peginterferon alfa-2a (40KD))

PEGASYS® เป็นอย่างในกลุ่มที่ชื่อ Interferons ซึ่งเป็นโปรตีนที่ปรับการตอบสนองของระบบภุมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรค

การฉีด PEGASYS® ควรฉีดก่อนนอน เพราะยาอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า หรืออาการคล้ายเป็นหวัด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ต่อไปนี้คืออาการข้างเคียงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยรับการรักษาด้วย PEGASYS® การข้างเคียงเหล่านี้บางครั้งอาจหายได้เอง หรือมีความรุนแรงลดลงหลังจากฉีดยาไปหลายครั้ง อาการข้างเคียงต่างๆ มักจะหายไปเองหลังจากหยุดฉีดยาแล้ว

  • อาการคล้ายเป็นหวัด เช่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ หนาวสั่น และปวดข้อ
  • ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด คลื่นไส้อาเจียน ปวดกระเพาะ และท้องเสีย
  • วิงเวียน
  • ผมร่วง
  • ขาดสมาธิ หงุดหงิด สับสน การนอนหลับผิดปกติ หรือซึมเศร้า

แจ้งให้ผู้ป่วยพบแพทย์ทันทีหรือไปแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดหากผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้

  • เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง
  • รู้สึกซึมเศร้ามาก หรือคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • ไอติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา
  • สับสน
  • มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีรอยซ้ำ
  • มีไข้หรือหนาวสั่น ตั้งแต่ ๑ – ๓ สัปดาห์หลังเริ่มการรักษา

การเก็บรักษา

ในบางครั้ง ผู้ป่วยอาจจะต้องนำยาไปฉีดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน การเก็บหลอดฉีดยาที่ PEGASYS® บรรจุอยู่ ต้องเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง ๒ – ๘ องศาเซลเซียส ห้ามแช่แข็ง และห้ามเขย่าหลอดฉีดยา

ควรทำอย่างไรเมื่อลืมฉีดยา PEGASYS® หนึ่งครั้ง

อย่าเพิ่มขนาดยาเป็น ๒ เท่า เพื่อชดเชยการฉีดยาผู้ป่วยที่ลืม หากผู้ป่วยลืมฉีดยาภายใน ๒ วัน หลังจากวันที่ต้องฉีดยาตามกำหนด ควรฉีดยาในขนาดปกติทันทีที่จำได้ และฉีดยาครั้งต่อไปตามวันที่กำหนดตามเดิม

หากผู้ป่วยลืมฉีดยา ๓ – ๕ วันหลังจากวันที่ต้องฉีดยาตามกำหนด ควรฉีดยาในขนาดปกติทันที่ที่จำได้ และฉีดครั้งต่อๆ ไปโดยเว้นช่วงห่างครั้งละ ๕ วัน จนกว่าจะเข้าสู่วันที่กำหนดตามปกติ

หากผู้ป่วยลืมฉีดยา ๖ วันหลังจากวันที่ต้องฉีดยาตามกำหนด ควรให้ผู้ป่วยรอ และฉีดยาในขนาดปกติในวันต่อมา

ข้อควรจำ ๕ ประการสำหรับผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วย PEGASYS®

๑.  ผู้ป่วย หรือภรรยาของผู้ป่วยต้องไม่ตั้งครรภ์ในขณะที่รักษาด้วย PEGASYS® และ ๖ เดือนหลังจากการรักษาสมบูรณ์แล้ว

๒.  ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจการตั้งครรภ์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนเข้ารับการรักษา

๓.  ผู้ป่วยต้องใช้วิธีคุมกำเนิด ๒ วิธีร่วมกันระหว่างการรักษา คือ การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ร่วมกับการใช้สิ่งกีดขวางการปฏิสนธิ

๔.  ผู้ป่วยต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ร่วมกับการใช้สิ่งกีดขวางการปฏิสนธิ แม้ว่าผู้ป่วยคิดว่าตัวเอง หรือภรรยาจะไม่ตั้งครรภ์

๕.  ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากพบว่าตนเอง หรือภรรยาของผู้ป่วยตั้งครรภ์

Advertisement

23 thoughts on “ไวรัสตับอักเสบ

  1. Zam Tutiyaporn พูดว่า:

    มีอีกประเภทนึงคือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีก็ทำให้เป็นมะเร็งตับได้จริงๆ ครับ หากไม่ระวังชอบเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือเล่นยาใช้เข็มร่วมกันนี่น่ากลัวกว่าติดเอดส์อีก อย่างญาติผมก็เป็นนะครับ ไวรัสตับอักเสบซีเนี่ย เขาติดต่อขอคำปรึกษาและซื้อยาผ่าน V-Med Clinic ที่เชียงใหม่ครับ ราคาไม่แพงเลย เพราะเขาทำงานร่วมกับองค์กรมูลนิธิ ต้องการให้คนเข้าถึงการรักษาได้อย่างง่ายดาย ส่งตรงเวลาและก็ได้ยาจริงมีมาตรฐานนะครับ ไม่เหมือนที่หลอกขายยาปลอมในอินเตอร์เน็ตทั่วไปสมัยนี้ มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบซีอย่างดีครับ ตอนแรกได้ยินราคาก็นึกว่าจะโดนหลอก เพราะว่าค่ายาไม่ใช่บาทสองบาทเนอะ ยังไงลองโทรไปคุยรายละเอียดได้ครับที่เบอร์ 052-001119 หรือเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ http://www.vmedclinic.com แนะนำจริงๆ ค่ะ

  2. กัลยาณี พูดว่า:

    ขอขอบคุณครูอั๋นมากค่ะที่เป็นหว่งทุกๆคนอย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะ ตัวพี่และลูกๆพากันไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อและพยายามอ่านเอกสารที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันภัยเงียบเกือบทุกวิธีค่ะ

  3. กัลยาณี พูดว่า:

    ครูอั๋นสบายดีนะค่ะวันนี้ลืมกินยาไวรัสบีรึเปล่า……….วันนี้คนที่บ้านคุณหมอนัดเจาะเลือดหาจำนวนไวรัสว่าลดน้อยหรือไม่ป่านใดภาวนาของให้หายเร็วค่ะ……….สมัยครูอั๋นฉีดยาไวรัสมีจำนวนมากไหมค่ะและครบ 1 ปีลดลงบ้างไหม

    • ครูอั๋น พูดว่า:

      อ๊ากกกกกกกกกกกกกกกกก…ลืม จริงๆ ด้วย ๕๕๕๕๕
      ก่อนฉีดทะลุขีดจำกัดบน (>640,000,000 copies/ml) ฉีดไปครบแล้วเหลือ 128 ตอนนี้ กลับมาที่เดิม กินยาต่ออย่างเดียว กลางเดือนหน้าจะฟังผลการทานยาเมื่อครบ ๖ เดือนครับ

      • กัลยาณี พูดว่า:

        กลางเดือนหน้าขอให้ครูอั๋นไปฟังผลการทานยาคุณหมอบอกหายเป็นปกติแล้วครับ
        คุณครู…แต่ต้องเอาไม้เรียวไปด้วยนะเพราะว่าลืมกินยาบ่อยๆต้องถูกตีแล้วอิอิ…
        4 ตุลาพ่อของลูกๆไปฟังผลเช่นกันค่ะว่าเชื้อลดลงบ้างไหมจาก 989,400,000 copies/ml

          • กัลยาณี พูดว่า:

            สวัสดีค่ะหายไปซะนาน ตอนนี้ครูอั๋นไปฟังผลทานยาครบ6เดือนหมอว่าดีขึ้นรึเปล่าค่ะ สว่นคุณพ่อของลูกเชื้อไวรัสลดลงเหลือ 960ตัวแล้วค่ะทำอย่างไรมันจะได้ไม่เพิ่มขึ้นอีกค่ะ…..อย่าลืมดูแลสุขภาพด้วยค่ะ

          • ครูอั๋น พูดว่า:

            ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอครับ (ผมทำไม่ค่อยได้)

            ส่วนผล 6 เดือนหลังทานยา ลดจากเต็มแม็กซ์ (>996,000,000 copies/ml) ลงมาอยู่ที่ 6699 copies/ml ครับ ถือว่าลดลงเยอะ ร่างกายผมเหมือนกับว่าถ้ามียาเข้าไปก็คุมเชื้อไว้ได้ แต่พอไม่ได้รับยาก็กลับมาอีกครับ เป็นกำลังใจให้เช่่นกัน ดูแลสุขภาพของคุณกัลยาณีและคนข้างๆ ด้วยครับผม ^___^

  4. กัลยาณี พูดว่า:

    ครูอั๋นเป็นมากี่ปีแล้วค่ะสุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง มีอุปสรรคกับการทำงานไหมค่ะโรคนี้
    อย่าเพลิดกะงานและให้กำลังใจผู้อื่นจนลืมกินยานะค่ะ

  5. กัลยาณี พูดว่า:

    ขอบคุณครูอั๋นมากๆค่ะ รู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง ตอนนี้คนไข้ได้รักษาโดยการฉีดยา ฉีดเป็นเข็มที่ 6 แล้วค่ะเหลืออีก 42 เข็มจะพยายามสู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆให้ถึงที่สุด

    • ครูอั๋น พูดว่า:

      ผลข้างเคียงเยอะมากครับ สำหรับยาฉีด ตอนนี้ผมกินยาต่อ ชิวๆ ครับ สบายๆ แต่ว่าต้องตรงเวลา…เออนั่นไง วันนี้ลืมกินยา ๕๕๕

  6. กัลยาณี พูดว่า:

    ขอบคุณครูอั๋นค่ะที่ตอบกลับ ขอถามต่ออีกมีจำนวนไวรัส 989,400,000 ตัวจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้างค่ะ จัดว่าเสี่ยงมากแค่ไหนค่ะ กลุ้มใจจังคนที่เป็นไวรัสบีเป็นหัวหน้าครอบครัวซะด้วยลูกๆกำลังใช้เงินค่ะ

    • ครูอั๋น พูดว่า:

      หมอที่ผมรักษาด้วยบอกว่าให้ใช้ชีิวิตตามปกติ แต่เลี่ยงอาหารหมักดองซึ่งส่งผลร้ายต่อตับ เหล้า เบียร์ งดเด็ดขาด งดอาหารมัน ออกกำลังกาย พักผ่อน ถ้าเริ่มรักษาก็ให้ทานยา หรือฉีดยาให้สม่ำเสมอ ตรงเวลา เขาว่ามันไม่ส่งผลในทันที่หรอกครับโรค บางคนแข็งแรงก็อยู่กับมันไปตลอดชีวิตโดยที่ไม่เป็นอะไรเลย ดังนั้นอย่ากังวลไปล่วงหน้า ใช้ชีวิตตามปกติ แต่รักษาสุขภาพให้แข็งแรงไว้ครับผม

    • ครูอั๋น พูดว่า:

      คุณหมอบอกว่ามีโอกาสหายครับ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ปัจจัยหลายๆ ด้วย เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย การดูแลตัวเองระหว่างรักษา ไม่ใช่เฉพาะแค่การฉีดยาอย่างเดียวครับ ถ้าฉีดแล้วรักษาสุขภาพด้วย อะไรที่หมอห้าม ไม่ควรปฏิบัติ เลี่ยงได้…ไม่ใช่ชี ต้องบอกว่างดไปเลย สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้ร่างกายแข็งแรงก็ควรทำนะครับ

    • ครูอั๋น พูดว่า:

      ก็มากเอาการอยู่นะครับ ผมร่วง เป็นไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แต่ว่าแต่ละคนก็มีอาการแตกต่างกันไปนะครับ มากบ้าง น้อยบ้างครับ

  7. dd พูดว่า:

    อยาก ทราว่า anti HCV= positive มีโอกาสหายไหมครับและ มีโอกาสกลับมา เป็น Negative ได้ ไหมครับ

    • ครูอั๋น พูดว่า:

      ผมเองเป็น B ไม่ค่อยรู้เรื่อง C แต่เห็นเขาว่า C จะร้ายแรงกว่า ยาที่ใช้ฉีดรักษาก็ยาตัวเดียวกัน คือ Pagasys ถ้า B มีโอกาสหายได้ C ก็น่าจะมีโอกาสเช่นกัน เพราะเมื่อตอนที่ผมฉีดยาครบแล้ว หมอก็สั่งตรวจ anti HBV เหมือนกัน แต่มันก็เป็น + เหมือนเดิมครับ แต่เห็นว่าบางคนกลับไปเป็น – ซึ่งแสดงว่าหายแล้วครับ

      ดังนั้นคำตอบคือ น่าจะมีทางที่มันจะกลับมาเป็น – เหมือนเดิมครับ แต่ต้องรักษาให้ครบตามกระบวนการ ไม่ทราบว่าเข้ารับการรักษาหรือยังครับผม

ปลื้มใจที่แวะเข้ามา ฝากข้อความสักหน่อยก็ไม่ว่าอะไรนะครับ ขอบคุณครับผม ^___^

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s