นฤพนธ์ สายเสมา
ครู โรงเรียนประสาทวิทยาคาร สพม.33
(ได้รับทุนจาก สพฐ.ในการศึกษาดูงานการจัดการศึกษา
ณ รัฐออสเตรเลียใต้ ประเทศออสเตรเลีย
1 – 14พฤษภาคม 2559)
————————————–
บทคัดย่อ
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีนักเรียนนักศึกษาต่างชาติไปเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุที่ประชากรของออสเตรเลียมีคุณภาพ นอกจากการจัดการศึกษาในระบบที่มีคุณภาพแล้ว ครอบครัวและสังคมในฐานะผู้ให้การศึกษาก็ส่งเสริมการจัดการศึกษาในระบบได้เป็นอย่างดี โดยครอบครัวนั้น สามารถทำหน้าที่ในการอบรม เลี้ยงดูเด็กและเยาวชนในช่วงขวบปีแรกๆ ก่อนการเข้ารับการศึกษาในระบบได้อย่างดี จากนั้นก็ทำหน้าที่ดูและเอาใจใส่เด็กและเยาวชนร่วมกับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กและเยาวชนออกไปใช้ชีวิตในสังคม สังคมที่หมายรวมถึงคนในสังคมต่างก็เป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ของสังคม และกฎหมายของบ้านเมือง เมื่อเด็กและเยาวชนที่มีพื้นฐานความประพฤติที่ดีมาจากบ้าน ได้รับการหล่อมหลอมด้านความรู้จากการได้รับการศึกษาในโรงเรียน และพบเห็นแต่สิ่งที่ดีในสังคม เท่ากับว่าเด็กและเยาวชนของออสเตรเลียได้รับการศึกษาทั้งจากผู้มีหน้าที่จัดการศึกษา และจากผู้ให้การศึกษาอย่างรอบด้าน จึงทำให้ประชากรของออสเตรเลียมีคุณภาพ และเมื่อเป็นเช่นนั้น การพัฒนาใดๆ ที่ตามมาก็ย่อมไม่มีปัญหา และพัฒนาได้อย่างเต็มที่ เพราะทรัพยากรมนุษย์นั้น สำคัญกว่าทรัพยากรทั้งปวง
บทนำ
ในยุคที่ทั้งพ่อและแม่มีภาระการงานต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทั้งของตนเองและของบุตร ทำให้ฝ่ายชายเพียงฝ่ายเดียวทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนฝ่ายหญิงทำหน้าที่แม่บ้านเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกเพียงอย่างเดียวดังเช่นครั้งอดีตนั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ฝ่ายหญิงจึงจำเป็นต้องออกไปทำงาน พร้อมทั้งเป็นแม่บ้านไปด้วย ภาระการดูแลลูกจึงตกเป็นของญาติผู้ใหญ่ ยิ่งถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลา ไม่มีญาติพี่น้อง ซึ่งมักจะเป็นปู่ย่าตายายช่วยดูแลแล้ว หน้าที่การดูแลเด็กก็มักจะตกไปอยู่ตามศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล โดยพ่อแม่ก็มอบลูกของตนเองให้โรงเรียนดูแล ยิ่งเด็กๆ ในต่างจังหวัดที่พ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากินในเมืองใหญ่ด้วยแล้ว พ่อแม่ยิ่งไม่มีเวลาได้เจอลูกเลย อาจเป็นหลายเดือน หรือเป็นปีกว่าจะได้พบกันครั้งหนึ่ง ตนเองมีหน้าที่ทำงานหาเงินส่งกลับมาเป็นค่าใช้จ่าย หน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูจึงเป็นหน้าที่ของญาติผู้ใหญ่ และเมื่อถึงวัยเข้ารับการศึกษา เด็กๆ ก็จะถูกส่งเข้าไปรับการศึกษายังหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการศึกษา นั่นคือโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐบาล และเอกชน แทบจะเป็นสิทธิ์ขาดของโรงเรียนในการดูแลให้การศึกษาแก่เด็กๆ เหล่านั้นเลยทีเดียวในการให้การศึกษา โดยที่ผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่พ่อแม่บางส่วนแทบจะไม่ได้ให้ความสนใจเลยว่าโรงเรียนสอนอะไรบ้าง ลูกหลานของตนทำอะไรบ้างในแต่ละวัน หรือถ้าจะมีก็ในช่วงต้นๆ ของการเข้ารับการศึกษาในระบบเท่านั้น แต่มักจะให้ความสนใจมากขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นกับบุตรหลานของตน จะเห็นได้จากข่าวต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาอะไรด้านการศึกษา หรือที่เกี่ยวกับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม บุคคลแรกที่มักจะตกเป็นจำเลยของสังคมเสมอ คือ ครู และโรงเรียน ผู้ที่มีหน้าที่หลักใน “การจัดการศึกษา” ในระบบ แต่เราอาจจะลืมไปว่าหน่วยที่เล็กที่เล็กที่สุดของสังคม แต่ทว่ามีความสำคัญที่สุด คือ ครอบครัว ซึ่งมีหน้าที่ในอบรมเลี้ยงดูและเป็น “ผู้ให้การศึกษา” แก่ลูกหลานด้วยเช่นกันกลับไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก คำกล่าวว่า พ่อแม่คือครูคนแรกของลูก หรือวินัยเริ่มที่บ้าน สอนลูกหลานให้มีระเบียบ ดูเหมือนว่าหลายครอบครัวหรือหลายคนในสังคมปัจจุบันลืมความสำคัญสิ่งเหล่าไปเสียแล้ว
บทความนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน ของครอบครัวชาวออสเตรเลียที่ผู้เขียนได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยได้เห็นสิ่งที่ครอบครัวและสังคมปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ซึ่งการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในหล่อหลอมให้เยาวชนออสเตรเลียสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ในฐานะที่เป็นตัวอย่างที่ดี และต้องการชี้ให้เห็นว่า ครอบครัว และสังคมมีส่วนสำคัญในฐานะ “ผู้ให้การศึกษา” แก่เด็กและเยาวชนออสเตรเลียอย่างไร
ออสเตรเลีย
ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศจะมีประชากรที่มีคุณภาพ ส่งผลให้จะทำสิ่งใดก็ดูเหมือนจะง่ายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง ไม่เหมือนกับประเทศด้อยพัฒนา และประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมักจะมีปัญหาเหล่านี้สะสมอยู่ รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการศึกษา มีการปฏิรูปการศึกษา และทำอย่างจริงจัง ผลการสอบ PISA ซึ่งถือเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้กันทั่วโลกก็ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน คือ มีคะแนนเฉลี่ยสูงว่าคะแนนเฉลี่ยของทั่วโลก และประเทศในกลุ่ม OECD เมื่อการสอบในปี ค.ศ.2012 ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน นั่นสะท้อนให้เห็นคุณของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของออสเตรเลีย และคุณภาพของประชากรด้วย
เมื่อมองในด้านเศรษฐกิจ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ร่ำรวยประเทศหนึ่ง จีดีพีต่อหัวของประชากรที่ค่อนข้างสูง และอัตราของความยากจนที่ค่อนข้างต่ำ ในแง่ของความมั่งคั่งเฉลี่ยเป็นอันดับสองในโลกตามหลังสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2013 ถึงแม้ว่า อัตราความยากจนของประเทศได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.2 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 11.8 ในปี 2013 มันได้รับการระบุโดย สถาบันวิจัยเครดิตสวิส วาเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก และความมั่งคั่งเฉลี่ยสูงสุดต่อผู้ใหญ่เป็นอันดับสองในปี 2013 ความเจริญทางเศรษฐกิจนี้เองก็เป็นผลสะท้อนให้เห็นว่าเกิดจากการที่ประชากรของออสเตรเลียมีคุณภาพมากเพียงใด เช่นเดียวกันกับประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ
แล้วออสเตรียเลียพัฒนาประชากรของเขาอย่างไร บทความนี้อาจจะนี้ให้เห็นภาพการพัฒนาประชากรในวัยเรียนของออสเตรเลียได้บ้าง ซึ่งบทความจะเน้นไปที่ผู้ให้การศึกษา โดยผู้เขียนแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ครอบครัว และสังคม
ครอบครัวในฐานะผู้ให้การศึกษา
นักจิตวิทยามีความเชื่อว่า ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพนั้นมีปัจจัย 2 ด้านที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ปัจจัยด้านพันธุกรรม และปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม โดยปัจจัยด้านพันธุกรรมนั้นเป็นตัวกำหนดขีดความสามารถ หรือแนวโน้มของพัฒนาการต่างๆ ส่วนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมจะเป็นตัวผลักดันให้พัฒนานั้นๆ เกิดขึ้นเร็วหรือช้า ซึ่งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อพัฒนาการนั้นมีหลายปัจจัย เช่น ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ภาวะโภชนาการ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติในครอบครัว รวมไปถึงการอบรมเลี้ยงดู ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงต่อพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นประชากรที่มีคุณภาพของชาติต่อไป
มีคำกล่าวว่า พัฒนาการที่ดีของเด็กเริ่มต้นจากครอบครัว เด็กจะเติบโตขึ้นมามีคุณภาพชีวิตและบุคลิกภาพเช่นไร ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัวและวิธีการอบรมเลี้ยงดูจากบุคคลในครอบครัวเป็นสำคัญ เพราะนอกจากเด็กจะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากครอบครัวแล้ว เด็กๆ ยังได้รับการเลี้ยงดูจากบุคคลในครอบครัวตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ครอบครัวจึงเป็นแบบอย่างใหนการหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม รวมไปถึงจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ ปลูกฝังค่านิยม ความรัก และคุณภาพของการมีชีวิต จึงทำให้การอบรมเลี้ยงดูมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก และนับเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยอื่นๆ และผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมาก คือ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองนั่นเอง
ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ครอบครัวที่เป็นเจ้าบ้าน (Host Family) ของข้าพเจ้าปฏิบัติต่อลูกๆ ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนและกำลังเป็นวัยรุ่นได้ดีมาก ตอนเช้าและตอนเย็นในขณะที่เดินทางไปและกลับ พ่อหรือไม่ที่ไปส่งจะพูดคุยกับลูกๆ ตลอดเวลา ถามเรื่องโรงเรียน เรื่องเพื่อน ในขณะเดียวกันลูกๆ ก็คุยกับพ่อแม่แทบจะทุกเรื่อง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ พ่อแม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องที่ลูกๆ พูดเสมอ นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกๆ กล้าที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ทุกเรื่อง และสังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่งว่า พ่อแม่จะไม่ขับรถเร็วเลย ไม่เกินที่กฎหมายกำหนดเป็นส่วนมาก อาจจะเป็นเพราะกฎหมายเกี่ยวกับการขับขี่นั้นเข้มงวด และเจ้าหน้าที่ก็เอาจริงเอาจังด้วย
ที่บ้าน ทุกคนจะรวมกันอยู่ห้องนั่งเล่นช่วงเล่นก่อนอาหารเย็น ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์ก็ดี เล่นโทรศัพท์ก็ดี หรือทำงานทำการบ้านก็ดี แต่จะอยู่ในบริเวณเดียวกัน เมื่อแรกผู้เขียนยังปรับตัวไม่ได้ก็เก็บตัวอยู่ในห้องนอน หลังจากเริ่มปรับตัวได้แล้วก็เริ่มออกมาใช้ชีวิตกับครับครัวเจ้าบ้าน ซึ่งทุกคนจะมีกิจกรรมร่วมกันเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นพูดคุย หรือเล่นเกม เหตุการณ์ในห้องนั่งเล่นที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากอย่างหนึ่งก็คือ ลูกของเจ้าบ้านที่เป็นนักเรียนประถม เปิดโทรทัศน์ไปเจอละครวัยรุ่นเรื่องหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วช่วงเวลานี้ที่บ้านจะเปิดรายการการ์ตูน หรือภาพยนตร์ หรือละครสำหรับเด็ก พ่อของเด็กได้บอกให้ลูกเปิดไปช่องอื่นด้วยว่ามันไม่เหมาะสม เหตุการณ์นี้กระทบใจผู้เขียนมาก เพราะแม้เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เขาก็ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
ที่โต๊ะอาหารเย็น ทุกคนจะรับประทานอาหารร่วมกันทุกวัน แม้ว่าบางวันอาจจะมีเพียงพ่อ หรือแม่เท่านั้นที่ร่วมโต๊ะอาหาร แต่ก็จะมีเพียงบางวันเท่านั้นที่ขาดใครไป ปกติจะพร้อมหน้าพร้อมตา เวลาทานอาหารก็จะมีการพูดคุย ถามไถ่เรื่องราวต่างๆ เสมอๆ มีการเล่าประสบการณ์ของพ่อแม่ หรือของลูกๆ ทำให้การรับประทานอาหารเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน บางครั้งเมื่อมีเรื่องดีๆ ของคนในครอบครัวก็จะประกาศกันที่โต๊ะอาหารนี่เอง เพื่อให้ทุกคนได้แสดงความยินดีร่วมกัน ซึ่งการมีกิจกรรมร่วมกันเช่นนี้นับเป็นการสานความสัมพันธ์ที่ดีของทุกคนในครอบครัว ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เห็น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่พ่อแม่ก็จะชื่นชมความสำเร็จของลูกเสมอ เช่น ลูกทำงานเสร็จ วาดรูปเสร็จ ร่วมการแข่งขันกีฬา
ทุกวันหยุด ก็จะมีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเสมอๆ เช่น แข่งกีฬา สิ่งเหล่านี้ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวได้ใกล้ชิดกัน ได้แสดงออกซึ่งความห่วงใย และปรารถนาต่อกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กๆ เติบโตขึ้น และเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ครอบครัวที่ผู้เขียนไปอยู่นั้น นอกจากกิจกรรมเหล่านี้แล้ว ผู้เป็นแม่ยังได้กระทำสิ่งซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้มีใจเผื่อแผ่ไปยังคนอื่นให้ลูกๆ ได้เห็นด้วย คือ ในช่วงเย็นวันอังคาร คุณแม่จะไปร่วมกิจกรรมเลี้ยงดูผู้ยากไร้ที่โบสถ์ ผู้เขียนเองได้มีโอกาสไปร่วมด้วย และรู้สึกดีมาก
ในวันที่ไปร่วมแบ่งปันนั้นมีผู้ยากไร้มาขอรับอาหารเพียง 2 คนเท่านั้น เจ้าบ้านของข้าพเจ้าเล่าว่าบางวันก็มาก บางวันก็น้อย เช่นวันนั้น มีเพียงชาย 1 คน และหญิง 1 คน เมื่อรับอาหารแล้วข้าพเจ้าก็ได้ร่วมพูดคุยกับผู้ยากไร้เหล่านั้น ก่อนแยกกันหญิงชราได้กล่าวขอบคุณเสียมากมาย มันคล้ายกับว่าเมื่อเราทำบุญแล้วเราต้องการสิ่งตอบแทนจากการกระทำนั้น และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีเลยว่า เราได้รับผลแทนกลับคืนมา คือ ความสุขที่ได้เป็นผู้ให้ เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมของการเป็นผู้ให้ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ให้ เห็นออกเห็นใจ และจะไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
ในสังคมเอเชีย ครอบครัวหลายครอบครัวเลือกที่จะให้ลูกเรียนหนักๆ ตามความเชื่อที่ว่ายิ่งเรียนสูงก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้น นั่นก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย การศึกษาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ แต่หากเรียนเพียงอย่างเดียวครอบครัวบางครอบครัวก็ยอมไม่ได้ เมื่อทราบว่าคนไทยและคนเอเชียคิดแบบนั้นกลับพูดออกมาเลยว่า “แล้วคุณเอาเวลาที่ไหนดูแลลูก” นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาใส่ใจเรื่องการดูแลลูกมากๆ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อพ่อแม่มีเวลาให้ลูกในช่วงที่เขายังเล็ก เขาก็จะมีเวลาให้พ่อแม่เมื่อเขาโตขึ้น เช่น ในวันแม่ออสเตรเลีย ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ครอบครัวเจ้าบ้านของผู้เขียนก็แยกกันไปหาแม่ของตนเอง ไปทานอาหาร และมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ช่วงเช้าบางครอบครัวออกไปเดินวิ่งรณรงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การไปก็ไปกันทั้งครอบครัว ไม่ใช่ไปแค่เด็กๆ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคนในครอบครัว
เมื่อครอบครัวดูแลดีแล้วก็ถึงคราวที่ต้องไปโรงเรียน ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปร่วมประชุมผู้ปกครองในระดับประถมศึกษา ทีแรกคิดว่าจะคล้ายกับเมืองไทย คือ เข้าหอประชุม เข้าห้องพบครูพูดภาพรวม แต่ไม่ใช่เลย ไม่มีการพบผู้บริหาร พบแต่ครู และเป็นการพบแบบตัวต่อตัว ครูจะมีข้อมูลของเด็กอย่างละเอียดและพูดคุยถึงจุดเด่น จุดด้อยของเด็กอย่างตรงไปตรงมา และละเอียดมาก อาจจะเป็นเพราะครูแต่ลคนดูแลนักเรียนจำนวนน้อยด้วย แม้ว่าจะเป็นห้องเรียนที่รวมนักเรียน 2 ระดับเข้าด้วยกัน เพราะโรงเรียนมีเด็กไม่ถึง 20 คนด้วยซ้ำ ซึ่งข้อมูลจากโรงเรียนก็จะตรงกับที่บ้าน ครูและผู้ปกครองจะพูดคุยกันอย่างละเอียด พูดภาษาแบบบ้านเราก็คงจะต้องบอกว่า พูดแบบไม่มีกั๊กเลยทีเดียว ทำให้เห็นได้ ถ้าครอบครัวเอาใจใส่ และโรงเรียนก็เอาใจใส่เด็กได้ทั่วถึง เด็กและเยาวชนก็จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน คือ เป็นผู้ใหญ่ที่มีการศึกษา และเติบโตมาจากครอบครัวที่อบอุ่น กลายเป็นคนที่คิดดีต่อสังคม และสามารถสร้างคนรุ่นต่อไปให้เป็นคนที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อครอบครัวให้การอบรมเลี้ยงดูที่ดีแล้ว เมื่อส่งต่อไปยังโรงเรียน ครูก็สามารถต่อยอดความรู้ ความสามารถของเด็กๆ ได้ สามารถทำงานร่วมกับที่บ้าน เพื่อส่งเสริม พัฒนา และต่อยอดพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กได้อย่างเต็มตามศักยภาพ แนะแนวทางให้เด็กๆ เดินต่อไปได้ตรงกับความสามารถและความถนัด และน่าจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ต่อไป และเมื่อเด็กออกจากบ้านและโรงเรียนแล้ว สังคมข้างนอกก็จะช่วยหล่อหลอมเขาอีกทางหนึ่งด้วย
สังคม : ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน
ผู้เขียนเคยชมรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง แขกรับเชิญในวันนั้นได้กล่าวถึงป้ายห้ามเดินลัดสนามปักอยู่แต่หลังป้ายนั้นกลับเป็นทางเดินอย่างชัดเจน และกล่าวต่อในทำนองว่า เมื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กและเยาวชนเป็นแบบนี้ เราจะสอนเด็กของเราได้อย่างไร เพราะถึงจะมีป้ายห้ามแต่ทุกคนก็ทำ ทำนองเดียวกันความเชื่อผิดๆ ที่มากับคำพูด เช่น กฎมีไว้แหก หรือกฎทุกข้อมีข้อยกเว้น ล้วนแล้วแต่ทำให้ข้อห้าม หรือข้อตกลงนั้นไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญ ไม่น่าเชื่อถือ หรือเมื่อผู้ปกครองขับขี่จักรยานยนต์โดยมีเด็กๆ นั่งไปด้วยแล้วขับย้อนศร นั่นก็เป็นการสอนเด็กกลายๆ ว่าเด็กสามารถทำอย่างนั้นได้ แม้ว่าจะผิดก็ตาม
ประสบการณ์ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ขึ้นรถโดยสารประจำทางครั้งแรกที่ออสเตรเลียนั้น ทำให้ผู้เขียนรู้สึกอับอายมาก แม้จะด้วยความไม่รู้ของผู้เขียนก็ตาม วันนั้น ผู้เขียนต้องเดินทางเข้าเมือง จึงขอความกรุณาให้เจ้าบ้านไปส่งที่ป้ายหยุดรถประจำทาง และผู้เขียนได้รอเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง ขณะนั้นคนเยอะมาก ผู้เขียนไม่รู้จะไปยืนอยู่ตรงไหน จึงได้ยืนรออยู่ที่ด้านริมสุดของป้ายหยุดรถประจำทาง เพื่อแยกออกจากคนอื่นๆ แต่กลับมีรู้สึกว่าคนที่รอรถประจำทางอยู่ตรงนั้นมองผู้เขียนแปลกๆ พลางคิดในใจว่าสงสัยเห็นว่าเราเป็นคนต่างชาติกระมัง เลยมองเรา แต่คิดอีกทีก็ไม่ใช่วิสัยของคนที่นี่ คิดไปพลางก็พลางหันซ้ายหันขวาของหาเพื่อนร่วมงานที่นัดกันไว้ ด้วยยังไม่ถึงเวลานัด พอรถประจำทางมาเท่านั้นแหละ ทุกคนที่ทั้งยืนอยู่ตรงนั้นก็ทำให้ผู้เขียนเห็นว่าทำให้ถึงถูกมองด้วยสายแปลกๆ เพราะคนเหล่านั้นเขายืนต่อแถวเพื่อขึ้นรถโดยสารอย่างเป็นระเบียบ โดยเขาให้คนพิการขึ้นรถโดยสารก่อน ไม่มีการเบียดแย่งกันขึ้นโดยสารเลย ในคนกลุ่มนั้นมีทั้งเด็กวัยเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ผู้เขียนรู้สึกโชคดีมากที่ไม่ได้ขึ้นรถโดยสารคันนั้น เด็กและเยาวชนที่เติบโตมาในสังคมที่สมาชิกทุกคนต่างปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เดียวกัน ก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายเช่นกัน ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้นับเป็นการให้การศึกษาอย่างดีกับเด็กและเยาวชน คล้ายกับคำพูดที่คนไทยพูดกันเสมอๆ คือ ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน ซึ่งในออสเตรเลียตัวอย่างที่ดีมีเยอะมากเลยทีเดียว การขึ้นรถโดยการก็สอนได้เช่นกัน ทั้งความตรงต่อและเวลา และความซื่อสัตย์
รถโดยสารประจำทางที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ขึ้นจะตรงต่อเวลามาก ทำให้ทุกคนสามารถวางแผนได้ว่าจะเดินทางเวลาใด ออกมารอรถโดยสารได้โดยไม่แออัด สังเกตว่าหลังจากรถโดยสารสายที่ผู้เขียนต้องการขึ้นออกไปเพราะรอเพื่อนร่วมงาน ป้ายรถเมล์จึงเหลือเพียงคนไทยสองคนนั่งคุยกัน ระหว่างนั้นก็มีประชาชนทยอยออกมารอรถโดยสาร และเมื่อรถโดยสารมา ก็ทิ้งคนไทยสองคนนั้นไว้ที่ป้ายรถประจำทางเช่นเดิม ความตรงต่อเวลาของระบบขนส่ง จึงช่วยสอนให้คนในออสเตรเลยตรงต่อเวลาด้วยเช่นกัน เมื่อผู้เขียนได้ขึ้นรถรางในเมือง เมื่อก้าวขึ้นไปทุกคนก็จะแตะบัตรโดยสารบนรถรางโดยอัตโนมัติโดยที่ไม่มีคนควบคุม แสดงให้เห็นว่าทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง และแสดงออกซึ่งความซื่อสัตย์ เพราะแม้จะไม่มีใครมาควบคุม แต่ทุกคนก็รู้ว่าตนเองควรต้องทำเช่นไร ตัวอย่างนี้นับเป็นเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าสังคมสามารถให้การศึกษาได้อย่างไร
อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สังคม โดยเฉพาะโรงเรียนได้ให้แก่เยาวชนของออสเตรเลีย คือ โอกาสในการศึกษาเล่าเรียน แม้ว่าเยาวชนเหล่านั้นจะดำเนินชีวิตผิดพลาดไป จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จะด้วยความด้อยโอกาสหรือพลาดพลั้งก็ตาม โรงเรียนจะให้โอกาสเสมอ บางโรงเรียนมีการจัดการศึกษาปีที่ 13 สำหรับนักเรียนที่ยังติดหรือไม่ผ่านในบางรายวิชา หรือมีการจัดการศึกษาที่มีลักษณะคล้ายการศึกษานอกระบบรวมกับการศึกษาตามอัธยาศัย คือ สามารถเรียนจบมัธยมปลาย (High School) ซึ่งเรียน 2 ปี ได้ในเวลา 5 ปี ตามความพร้อมของนักเรียน นักเรียนเหล่านี้เป็นนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ท้องก่อนวัยอันควร หรือที่บ้านยากจน ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่สามารถเรียนเต็มเวลาได้ ก็จะมาเข้าเรียนในโรงเรียนลักษณะเช่นนี้ และหลักสูตรที่เรียนก็จะส่งเสริมเรื่องการประกอบอาชีพด้วย
และอีกสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนจะปลูกฝังคือการศึกษาเชิงบวก (Positive Education) ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเป็นคนคิดบวกเสมอๆ
เมื่อคนในสังคมต่างเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก และเยาวชนที่ได้รับการศึกษาที่ดีจากบ้านและโรงเรียนแล้ว จึงสามารถคาดหวังได้เลยว่าเด็กเหล่านั้นจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากของประเทศชาติอย่างแน่นอน
บทสรุป
เมื่อทั้งโรงเรียนที่ทำหน้าที่จัดการศึกษา และครอบครัว กับชุมชน (สังคม) ที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไปในแนวทางเดียวกัน คือ ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชนของออสเตรเลีย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมออสเตรเลียจึงเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้รับความนิยมในในการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของคนต่างชาติ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย
ผู้เขียนในฐานะผู้มีส่วนในการจัดการศึกษา และเป็นผู้ให้การศึกษาด้วยนั้น จึงอยากรณรงค์ให้ทุกส่วนในสังคมไทยได้มีส่วนในการเป็นผู้ให้การศึกษาแก่เยาวชนไทย โดยการเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัว หน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมแต่ทว่ามีความสำคัญที่สุดในการให้การศึกษาแต่เด็กในช่วงขวบปีแรกของชีวิตถ้าสามารถให้การศึกษาที่ดีแก่เด็กเล็กในช่วงนั้นได้ดีแล้ว เมื่อครอบครัวส่งต่อมายังโรงเรียนที่มีหน้าที่จัดการศึกษา โรงเรียนและครูจะสามารถพัฒนาเด็กได้เต็มศักยภาพแน่นอน แต่ในระหว่างนั้น ครอบครัวก็ยังต้องดูแลและเอาใจใส่เด็กและเยาวชนด้วย โดยไม่คิดว่าภาระหน้าที่ในการดูแลและให้การศึกษาเป็นของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว
ถ้าทุกภาคส่วนในสังคมไทยทำได้เช่นนี้แล้ว เราไม่โทษกันหรอกว่าเด็กเรามีปัญหาเพราะอะไร เพราะทุกคนได้ช่วยกันแล้ว ปัญหาที่เคยมีก็จะลดลง และหมดไปในที่สุด เมื่อเราพัฒนาคนได้ เราจะพัฒนาสิ่งใดต่อไป ย่อมไม่เป็นเรื่องอยาก
เพราะทรัพยากรมนุษย์นั้น สำคัญกว่าทรัพยากรทั้งปวง
———————————————————-
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
ดุลยา จิตตะยโศธร. (2552, ตุลาคม – ธันวาคม). “รูปแบบการอบรมเลี้ยงดู: แนวคิดของ Diana Baumrind (Diana Baumrind’s Parenting Styles),” วิชาการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. 29(4) : 173 – 189. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2559. เข้าถึงได้จาก http://utcc2.utcc.ac.th/utccjournal/294/ดุลยา จิตตะยโศธร.pdf.
ประเทศออสเตรเลีย. (2559). ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2559. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศออสเตรเลีย.
พรจันทร์ แจ้งบุตร. (2552). “การศึกษาบทบาทของครูในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการจัดการศึกษาปฐมวัย ในโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ = A STUDY OF TEACHERS’ ROLES IN PROMOTING PARENT INVOLVEMENT IN ORGANIZING EARLY CHILDHOOD EDUCATION IN LAORUTIS DEMONSTRATION SCHOOL,” อิเล็กทรอนิกส์ทางการศึกษา. 4(2) : 175 – 183. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2559. เข้าถึงได้จาก http://www.edu.chula.ac.th/ojed/doc/V42/V42d/v42d0017.pdf.
สาวิตรี พังงา และจุไรพร รอดเชื้อ. (2559). บทบาทของผู้ปกครองที่มีต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กในโรงเรียนอนุบาลคหกรรมศาสตร์เกษตร = The role of parents towards child rearing in Kaset Home Economics kindergarten. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2559. เข้าถึงได้จาก http://www.annualconference.ku.ac.th/cd53/05_005_P50.pdf
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (2552). ระบบการศึกษาในออสเตรเลีย. ออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2559. เข้าถึงได้จาก http://www.bic.moe.go.th/newth/index.php?option=com_k2&view=item&id=3662:australia-education-system&Itemid=322.
เครดิตภาพ
- http://www.weekendhobby.com/board/photo/picture2009%5C2211255225508.jpg
- http://news.stpeters.sa.edu.au/wp-content/uploads/2014/06/Ramon-PESA.jpeg
- http://s678.photobucket.com/user/gingnoi/media/Australia%2024-30%20Dec%202009/freebus.jpg.html
- http://www.mtbsouthps.sa.edu.au/images/catherine_coxwalliss_3.jpg