เคยมีนักเรียนเขียนถึงผม
ว่าผมเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้เขามาเป็นครู
(ลองไปอ่านดูครับ)
http://verygoodteacher.blogspot.com/2008/08/blog-post_2961.html
ผมเองก็มีครู/อาจารย์ที่เป็นแบบอย่างให้ผมยึดถือ
เป็นแรงผลักดัน อีกทั้งเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาการต่างๆ ให้
ตลอดเวลาที่อยู่ในระบบการศึกษาว่า ๑๗ ปี
ครูตั้งแต่อนุบาล จนปริญญาตรี (และปริญญาโท)
ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญต่อผมทุกท่าน
ผมจะค่อยๆ เล่าก็แล้วกันนะครับ
ผมขอเริ่มต้นที่
อาจารย์สุวรรณา คล้ายกระแส (สกุลเดิมน่าจะ “มุ่งเกษม”)
ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาจารย์สำเร็จการศึกษา กศ.บ. (คณิตศาสตร์) เกียรตินิยม
และปริญญาโท กศ.ม. (คณิตศาสตร์)
เห็นว่ารุ่นนั้นอาจารย์เรียนแค่คนเดียว
วิชาที่อาจารย์สอนคือ สำรวจเรขาคณิต ประวัติและพัฒนาการของคณิตศาสตร์
และหลักสูตรและการสอนคณิตศาสตร์ เป็นหลัก (เท่าที่เห็น)
นอกจากนี้อาจารย์ยังสอนวิชาอื่นๆ ด้วย ได้แก่ เรขาคณิตนอกระบบยุคลิด
(ผมเรียนกับอาจารย์ทั้ง ๔ วิชาครับ)
ตอนปีสี่ ท่านสอนสามวิชา…ผมเรียนทั้งสามวิชา
ท่านถึงกับพูดแซวว่า…”มีบางคนเรียนกับครูมากกว่าสองวิชา”
(มีสามคนครับ…)
ผมชอบแนวการสอนของอาจารย์
เป็นการสอนที่เหมือนจะผสมผสานระหว่างการสอนแบบเก่ากับการสอนแบบใหม่
เป็นการสอนที่ต้องจำ (บทนิยาม ทฤษฎีบท กฎ และสมบัติต่างๆ)
แต่ก็กระตุ้นให้เกิดการคิด อภิปราย แสดงความเห็น และศึกษาเรียนรู้ล่วงหน้า
พยายามทำให้เรากล้าแสดงออก และเกิดความมั่นใจ
อาจารย์มักจะให้งานไปอ่าน/แปลก่อน
เอกสารส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ จึงจำเป็นที่พวกเราต้องเตรียมตัวมากขึ้นอีก
แต่สิ่งที่เราได้โดยไม่รู้ตัวคือ ภาษาอังกฤษ (เชิงคณิตศาสตร์)
จากนั้นจึงได้เรียน อธิบาย/อภิปรายกันในห้องเรียนอีกครั้ง
ไม่ได้ให้อ่าน ให้แปล แล้วก็ปล่อยไปเลยตามเลย
วิชาแปลกๆ อย่างเรขาคณิตนอกระบบยุคลิด (พวกเราเรียกวิชานี้ว่า non)
ท่านก็อธิบายได้เยี่ยม พาเราไปอีกโลกหนึ่ง กระตุ้นให้เกิดความคิดที่แปลกใหม่
ส่วนวิชาโปรดผมนั้นคือ ประวัติและพัฒนาการของคณิตศาสตร์
ท่านให้งานและออกรายงาน แต่ท่านสามารถซักถามได้ทุกรายละเอียด ทุกซอกทุกมุม
คือ ไม่ใช่ฟังๆ แล้วก็เลิก
ถ้าเราข้ามจุดสำคัญท่านก็จะถามและย้ำจุดนั้นอีกครั้ง
ความเม่นของท่านนั้นผมเองเจอกับตัว
วันหนึ่งผมไม่ได้เข้าเรียน แต่ท่านให้การบ้าน…
ผมเลยไปถามเพื่อนและจดงานนั้นมา…เป็นภาษาอังกฤษน่ะครับ
แล้วพอเรียนผมก็แปล…
เมื่อออกไปนำเสนอหน้าชั้น ปรากฏว่าท่านถามว่า “in addition แปลว่าอะไร”
ผมก็มองโพยที่จดมาแล้วก็ตอบว่าไม่เห็นมี…ปรากฏว่าจริงๆ แล้วผมจดตก
มาดท่านจะเหมือนดุ
รุ่นพี่เคยให้เหตุผลว่า
เพราะพวกผมเรียนกันเยอะ…เจ็ดสิบกว่าคน…
ถ้าไม่ดุก็อาจจะควบคุมชั้นเรียนไม่ได้
แต่ว่ารุ่นผมก็เรียนอย่าสนุกสนาน
ทุกสิ่งที่ท่านสอนเกี่ยวกับการเป็นครู
ท่านทำให้ดูทุกอย่าง
เขียนกระดานต้องเป็นระเบียบ…ท่านก็ทำให้ดู
อยู่หน้าห้องอย่าถือหนังสือ/เอกสาร ถ้าไม่จำเป็น…ท่านก็ทำให้ดู
ต้องตรงต่อเวลา…ท่านก็ทำให้ดู
อย่านั่งสอน…ท่านก็ทำให้ดู
ฯลฯ
ทุกอย่าง…ท่านทำให้เห็นก่อน
ก่อนออกฝึกสอนท่านก็สอนว่า
“แม้ว่างานสอน ถ้าทำผิดพลาดแล้วจะไม่ได้ทำให้ใครตายได้แบบหมอ
หรือไม่ได้ทำให้บ้านใครพังแบบวิศวกร…
แต่อย่าลืมว่า ความถูกต้องของเนื้อหา หรือความคิดที่เราปลูกฝังให้เด็ก
จะติดกับตัวเด็กไปตลอดชีวิต
ดังนั้นก่อนสอนต้องแน่ใจว่าเนื้อหาหรือสิ่งที่จะพูดนั้นถูกต้อง
แล้วจึงสอน…อย่าสอนสิ่งผิด
แม้ว่าเราจะไม่ใช่วิศวกรสร้างตึก…แต่อย่าลือว่าเราเป็นวิศวกรสร้างคน…”
ผมจำไว้จนทุกวันนี้ครับ
และจะทำอย่างเคร่งครัดด้วยครับ
ด้วยความเคารพครับอาจารย์
นฤพนธ์ ed42math_421051147